Thursday, January 24, 2013

ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จาก นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔



๑. การเริ่มต้นชีวิตเพื่อความแจ่มใสและการใช้ชีวิตให้เป็นคุณแก่ชาติทุกวิถีทาง และทุกโอกาสที่สมควร จนกล่าวได้ว่าเป็นการ ดำรงชีพเพื่อชาติ จริงๆเช่นนี้ ก็น่าจะได้รับยกย่องเป็นลักษณะพิเศษ เป็นคติชีวิตที่คนตั้งใจรักชาติทุกคนจะต้องสนใจให้มากที่สุด.

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กู้ชาติไทยให้พ้นจากความเป็นทาส เป็นยอดนักรบไทย มีพระชนม์ชีพต้องด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าวมานั้น พระองค์จึงสามารถกู้ชาติไทยได้ กู้แล้วยังทรงบากบั่นสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติไทยอีกอเนกอนันต์ เวลา ๑๔ ปีก่อนถึงปีสุดท้าย พระองค์มีชีวิตอยู่กับบูรณภาพแห่งชาติไทยเสมอมา. ชีวิตของพระองค์จึงแน่วแน่อยู่กับการสร้างชาติไทย ไม่ใช่ชีวิตทำลายชาติไทย

เมื่อระยะกาลตลอด ๑๔ ปี เต็มไปด้วยการสร้างชาติ ปีที่ ๑๕ จึงไม่มีปัญหาที่ผู้กตัญญูจะชวนคิดไปทางอื่น แม้ว่าปีที่ ๑๕ จะเป็นปีสุดท้ายของพระองค์ ก็เป็นปีที่เปี่ยมไปด้วยพระคุณ ซึ่งชาติไทยยังระลึกอยู่เสมอ จะไม่มีผู้ใดบังอาจกำจัดความกตัญญูของชาติไทยในข้อนี้ได้.

ปีสุดท้ายของพระองค์ คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พอรุ่งขึ้นปีขาลเพียง ๖ วัน ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ก็ต้องเสด็จสวรรคต เพียบพร้อมด้วยความรักชาติไทยอย่างสูงสุด ทรงรักโดยหวังสันติอันยอดเยี่ยมแก่ประชากร เป็นการแสดงพระคุณอันสุดซึ้งครั้งสุดท้าย จนสุดที่จะพรรณาพระคุณให้ครบถ้วนได้.

เป็นที่น่ายินดีว่า พระราชกิจจานุกิจของพระองค์ในปีสุดท้าย ซึ่งมืดมัวอยู่ภายใต้ละลอกแห่งบทความอันกลบเกลื่อน เป็นเวลาช้านานนั้น ได้กระจ่างขึ้น โดยผลแห่งการสอบสวนค้นคว้า จนเป็นที่เข้าใจแจ้งชัดว่า ความสำคัญแห่งชาติไทย ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ ย่อมขึ้นอยู่ที่พระราชกิจจานุกิจของพระองค์ทุกส่วน เรามองเห็นพระราชกิจจานุกิจเพียงพอ เราก็เข้าใจในความสำคัญแห่งชาติไทยได้ดี เพราะฉะนั้น ความสำคัญแห่งชาติไทยกับพระราชกิจจานุกิจ จึงแยกจากกันไม่ได้.

ถ้าจะมองในด้านความดี พระราชกิจจานุกิจก็คือพระเดชพระคุณ ซึ่งมีอยู่แก่ชาติไทย แม้จนทุกวันนี้บรรดาชาวไทย ที่รักชาติและทราบพระราชประวัติของพระองค์ถูกต้อง ยังรำลึกถึงพระเดชพระคุณของพระองค์ไม่มีใครยอมลืม ทุกคนรู้สึกว่าสายสกุลของตนๆเป็นหนี้บุญคุณพระองค์ท่านมากมาย เพราะยอดเกียรติยศ แห่งชีวิต ก็คือความเป็นอิสระพ้นจากความเป็นทาส พระองค์ประทานยอดเกียรติยศให้แก่ชาวไทย โดยช่วยให้พ้นจากความเป็นทาสพม่า และช่วยให้ดำรงชาติเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณของพระองค์ จึงฝังแน่นในจิตใจของชาติไทย นับวันก็ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น พระเดชพระคุณยังปรากฎอยู่ตราบใด ก็เป็นที่รับรอง พระราชกิจจานุกิจของพระองค์อยู่ตราบนั้น พระราชกิจจานุกิจนี้ก็มิใช่อื่น คือความสำคัญแห่งชาติไทยดังกล่าวแล้ว ชาติไทยกับพระองค์จึงไม่มีทางแยกจากกันได้ ใครบังอาจเหยียบย่ำพระเกียรติยศของพระองค์ก็เท่ากับ ดูถูกชาติไทยอย่างหนัก ผู้ประพฤติเยี่ยงนี้ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องถูกประณามว่า เป็นคนเนรคุณชาติที่สุด เป็นคนที่ชาติไม่พึงปรารถนาเลย.

๒. ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ เป็นปีที่เริ่มต้นด้วยความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นครั้งใหญ่ และครั้งนี้จะเป็นทางนำไปสู่การสร้างมิตรภาพระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอีกด้วย ในเมื่อไม่มีเหตุร้ายมาตัดรอนเสีย.

ความจริงไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เคยมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ บางคราวก็ไปมาติดต่อกันเสมอ บางคราวก็ห่างไปบ้าง โดยเฉพาะในสมัยกรุงธนบุรีมีการติดต่อทางพาณิชย์ตลอดมา ไทยกับจีนได้ผลพาณิชย์จากกันและกัน อย่างน่าพึงใจที่สุด แต่ผลพาณิชย์ที่ว่ามาเสื่อมสลายเสียเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะสัญญาระหว่างไทยกับบางประเทศในยุโรป (ดูสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้าขาย พ.ศ. ๒๓๙๘) ตั้งแต่บัดนั้นมา การค้าขายของไทยด้านทะเลก็หายเงียบไป การค้าขายทางบกก็พลอยลดลงตามกัน จนดูเหมือนว่าคนที่ไม่เคยรู้เรื่องการค้าขายของไทย มักเข้าใจผิดว่าไทยค้าขายไม่เป็น หรือไทยไม่ชอบค้าขาย ชาวต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องเก่าแล้วเข้าใจผิดอย่างที่ว่า มานี้.

แม้คนไทยรุ่นใหม่ที่ลืมเรื่องเก่าของชาติตนเอง หรือยังไม่ทราบดีพอก็มักจะหลงเข้าใจผิดไปบ้าง จนเห็นว่า การค้าขายไม่คู่ควรกับคนไทย แต่เมื่อทราบความจริงครั้งเดิมๆมาแล้ว ก็เข้าใจดีและรักการค้าขายขึ้นทุกวัน.

ยังมีอีกข้อหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา คือว่าเพียงแต่การค้าขายทางราชการทรุดโทรมแล้ว ไม่น่าจะเป็นเหตุ ตัดหนทางของประชาชนให้หยุดชะงักลงไปด้วย อันที่จริงทางราชการมิได้ห้ามปรามเลย แต่ควรเข้าใจว่าความรู้สึกทั่วๆไป ย่อมยำเกรงทางราชการมากที่สุด เมื่อทางราชการต้องมาเลิกค้าขายลงเช่นนี้ ก็เป็นช่องทางให้ คาดคิดเห็นไปว่าทางราชการไม่ชอบค้า ผู้ที่เป็นหลักฐานโดยมากในสมัยนั้นรับราชการประจำอยู่แทบทุกคน ย่อมจะหวาดเกรงไม่กล้าดำเนินงานค้าให้ใหญ่โต และทางของพ่อค้ากับทางของข้าราชการรุ่นเก่าเดินผิดทำนอง กันอยู่บ้าง พ่อค้ามุ่งหาทรัพย์เป็นที่ตั้ง แต่ข้าราชการระวังเรื่องยศๆศักดิ์ๆเป็นกังวลไม่น้อย จึงร่วมทางกันยาก.

จะพูดตรงๆ ก็คือว่าเป็นทั้งข้าราชการและพ่อค้าพร้อมๆกันนั้นไม่ใช่ง่ายนัก ก็ใครเล่าจะกล้าเผชิญกับความยากในข้อนี้.

อีกประการหนึ่งคนฉลาดเฉลียวโดยมากก็มักถูกชักนำให้เข้าอยู่ในวงราชการเสีย เป็นพื้น เพราะคำให้พรแบบเก่า มักจะส่งกันว่า ขอให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด และทางที่จะเป็นได้ในสมัยนั้นก็ต้องรับราชการ เพราะฉะนั้น ความสนใจเรื่องการค้าจึงมีเหลือน้อยเต็มที แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของใครโดยเฉพาะ หากแต่ชาติไทยต้องรับเคราะห์เปล่าๆเท่านั้น.

๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ราชทูตไปกรุงจีน พร้อมด้วยเรือสำเภาหลวง ๑๑ ลำ บรรทุกสินค้าเต็มทุกลำ มีพระราชสาส์นแสดงพระราชประสงค์ส่งเสริมสัมพันธภาพไปด้วย (ยังมีสำเนาพระราชสาส์นในหอสมุดแห่งชาติ ผู้สนใจตรวจได้เสมอ)

กระบวนเรือราชทูตไทยถวายบังคมลาออกไป ณ วันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๗ นาฬิกา ๑๒ นาที นอกจากเจริญราชสันถวไมตรีเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีพระราชประสงค์จะให้ราชทูต จัดซื้อหาเครื่องทัพพสัมภาระสำหรับใช้ในการสร้างนครหลวงใหม่ด้วย

เหตุใดจึงเพิ่งมาทรงพระราชดำริสร้างพระมหานครในปีที่ ๑๔ จากปีปราบดาภิเษก ข้อนี้เข้าใจไม่ยาก.

การเริ่มต้นของสมัยกรุงธนบุรี เราทราบกันดีแล้วว่าต้องเริ่มต้นด้วยการปราบข้าศึกศัตรูที่เข้ามารุกรานไทย ปราบหนเดียวไม่เสร็จ และไม่ใช่ปราบได้ง่ายๆ เพราะข้าศึกมีกำลังมาก ทั้งมีเล่ห์เหลี่ยมยอกย้อนหลายอย่างนมนานมา ต้องคอยทำลายกำลังของข้าศึกที่ยกทุ่มเทเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องคอยควบคุมพวกแตกรัง คอยชุบย้อมพวกขวัญหนี คอยหากำลังปลูกเลี้ยงประชากรที่สิ้นไร้ไม้ตอก ภาระทุกทางสุมอยู่ที่พระองค์ การแบกภาระอันหนักนี้จะลำบากยากเข็ญเพียงไร บรรดาผู้กตัญญูย่อมรู้สึกได้ดี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามให้ภารกิจลุล่วงไปโดยเร็วที่สุด ภาระเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทำให้เสร็จก่อน ถ้าไม่สามารถในภาระเช่นนี้ ก็หมายความว่าชาติไทยจะตั้งขึ้นยาก การตั้งชาติไทยจึงเป็นอันเดียวกับการอำนวยภาระหนักเหล่านั้นให้เป็นผลสำคัญ แก่บ้านเม​ือง เมื่อชาติไทยตั้งเป็นหลักมั่นคงแล้ว การสร้างพระนครก็จะสะดวกดี และเป็นศรีสง่าสมแก่ชาติไทยด้วย หากชาติยังอ่อนง่อนแง่น มัวรีบสร้างพระนครให้โอ่โถงเสียก่อน กำลังทางอื่นๆ ถูกเฉลี่ยมาทุ่มเทลงในการสร้างพระนครหมด ก็ดูเหมือนว่าพระนครนั้นมีแต่ความสวยสดงดงามภายนอก แต่สาระสำคัญส่วนซึ่งเป็นแกนในยังหามั่นคงไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จะนอนตาหลับได้หรือ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรีบสร้างชาติไทย หมายถึงการสร้างกำลังส่วนสำคัญๆ ของบ้านเมืองดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกำลังทางทหารและการเศรษฐกิจ จนบ้านเมืองแข็งแรงสมบูรณ์สมควรแก่การที่จะสร้างพระมหานคร เป็นใจกลางของประเทศแล้ว พระองค์จึงเริ่มทรงพระราชดำริสถาปนาพระมหานคร พระราชอัธยาศัยอันนี้ เป็นข้อแสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ทรงตื่นราชบัลลังก์ ไม่ทรงกังวลในพระบรมสุขส่วนพระองค์ยิ่งกว่าที่จะจัดการบ้านเมืองให้เจริญ ยิ่งขึ้น ทรงกังวลแต่จะปลุกให้ไทยตื่นในการสร้างความไพศาลแก่ไทยโดยขะมักเขม้น ใครๆที่รู้ความจริง จึงหาทางตำหนิพระองค์ในส่วนบกพร่องได้ยาก พระราชปรีชาญาณในการสร้างชาติหลักแหลมลึกซึ้ง พระราชหฤทัยหนักแน่นและโอบอ้อม ความสำเร็จจึงบรรลุมาเป็นขั้นๆ และนับวันจะสำเร็จยิ่งๆขึ้น หากไม่มีการตัดรอนพระชนม์ชีพของพระองค์เสีย

๔. พระยามหานุภาพ จินตกวีผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวโปรดให้ไปในกองราชทูตเจริญพระราชไมตรีครั้งสำคัญกับประเทศจีน ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ นั้น ได้ประพันธ์กระแสพระราชปรารภในการสร้างพระมหานครไว้ในกลอนนิราสว่าดังนี้

แรกราชดำริตริตรองถวิล
จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาม
จะสร้างสรรดั่งสวรรค์ที่เรืองนาม
จึงจะงามมงกุฎอยุธยา

บทความสั้นๆเท่านี้ แสดงให้เห็นความหมายอันลึกซึ้งในพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพียง ไร ทรงพระราชดำริจะให้ช่างสร้างพระนครให้เห็นเป็นดังเมืองสวรรค์ จึงจะสมเป็นราชธานีของประเทศไทย

ความจริงอิฐปูนเท่าที่มีอยู่แต่ก่อนก็ไม่น้อย เช่นที่กรุงเก่า ลพบุรี และตามวัดร้างอีกหลายวัด ถ้าจะลองให้รื้อขนรวบรวมมาสร้างพระนครก่อน ก็คงจะพอทำได้ไม่ยากนักมิใช่หรือ แต่จะเอาดีที่ตรงไหน การเก็บของเก่ามาสร้างใหม่ก็ดี ในเมื่อไม่สามารถหาของใหม่มาสร้างเท่านั้น แต่วัตถุสถานที่สร้างใหม่นั้นจะได้ชื่อว่านครอิฐหักกากปูน ครั้นจะเอาดีที่สามารถรื้อมาทำขึ้นใหม่ก็พูดไม่ถนัด ทั้งของเก่าอันพีงสงวนไว้เป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน ก็ถูกรื้อสูญรูปทรงของเก่าหมด นับว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่มีดีอย่างไรเลย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงไม่โปรดให้ทำเช่นนั้น ไหนๆ ก็ทรงกู้ชาติไทยขึ้นใหม่แล้ว สมควรสร้างนครหลวงของชาติเสียใหม่ด้วย จึงจะเหมาะด้วยประการทั้งปวง และการสร้างนครหลวง ต้องพยายามทำให้มองเห็นความสำคัญได้หลายทาง เมื่อชาวต่างประเทศมาเห็นนครหลวงของไทยแล้ว ควรให้เขาได้เกิดความสำนึกว่า

๑. ไทยมีประเทศอันอุดมสมบูรณ์
๒. ประเทศของไทยมั่นคงแข็งแรง
๓. ชาวไทยเข้มแข็งสามารถดำรงชาติอันมหึมาไว้ได้

นี่คือรัศมีอย่างน้อยที่จะหวังได้จากการสร้างนครหลวงขึ้นใหม่ ถ้าคิดสร้างนครชนิดเตรียมสู้ในบ้าน ไม่ให้เกิดความหมายสำคัญประการใดแก่ผู้ให้เห็น เป็นแต่สร้างขอไปที หรือสร้างเพื่อคุ้มรังของประมุขมากกว่าแล้ว พระองค์ท่านคงไม่ยอมเสียเวลาทรงพระราชดำริเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงทรงรอมาจนประเทศไทยไพศาล กองทัพไทยเข้มแข็งทุกด้าน และการเศรษฐกิจตรึงอยู่กับความมั่งคั่งของบ้านเมืองแล้ว ก็โปรดให้เริ่มการเตรียมสร้างพระนครทันที

หลังจากโปรดให้ราชทูตไทยออกไปประเทศจีน ถึงฤดูฝนว่างการทัพศึก มีโอกาสได้ทรงทะนุบำรุงการพระพุทธศาสนา และบำรุงคณะสงฆ์ตามสมควร ปรากฏในจดหมายเหตุโหรฉบับรามัญบันทึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงทำบุญ ตั้งแต่เข้าพรรษา (เดือน ๘ กลางเดือนเริ่มต้นเข้าพรรษา) เป็นเวลาครึ่งเดือน เมื่อจวนออกพรรษา ทรงสงเคราะห์คนยากจน ทรงอนุเคราะห์ผู้เฒ่าทั่วไป ทั้งที่เป็นข้าราชการและราษฎร ออกพรรษาแล้ว ทรงทอดพระกฐินหลวงทุกวัด มิได้ว่างเว้นสักวัดหนึ่ง

ในเรื่องเกี่ยวกับวัดนี้ น่าสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่โปรดให้แยกวัดเป็นราษฎร์เป็นหลวง เพื่อไม่ให้มีแบ่งชั้นวรรณะ เพราะว่าทุกอารามล้วนเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเหมือนกันหมด สมควรได้รับการทะนุบำรุง ตามศรัทธาของผู้นับถือ ไม่มีขีดคั่นว่า นี่ต้องเป็นวัดเจ้านาย นี่เป็นวัดราษฎร ใครศรัทธาก็ทำบุญได้ทั้งนั้น พระราชทานเสรีภาพ และสมภาพในเรื่องศาสนานี้ นับว่าดีพอใช้ แต่ก็มิใช่ว่าจะขาดการควบคุมเสียเลย

๕. การสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระพุทธเจ้า ถ้ามีการแบ่งวัดเป็นชั้นๆแล้ว พระพุทธรูปก็จะต้องพลอยถูกจัดชั้นไปด้วย ต่างว่าแบ่งวัดเป็นพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ พระอารามหลวงยังถูกแบ่งเป็นชั้นๆ อีกคือ วัดชั้นตรี วัดชั้นโท วัดชั้นเอก พระพุทธรูปในวัดเหล่านั้น ก็ต้องดำรงศักดิ์ไปตามขนาดของวัด และพึงเข้าใจเถิดว่า พระพุทธรูปในวัดราษฎร์ย่อมต้องต่ำกว่า พระพุทธรูปในวัดหลวงเป็นแน่ทีเดียว แม้พระพุทธรูปในวัดหลวงก็ยังลดเหลื่อมกันอีก คือพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นตรี ต่ำกว่าพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นโท โดยนัยนี้ต้องนับว่า พระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นเอกเป็นสูงสุดกว่าพระพุทธรูปบรรดามี ความลดหลั่นเช่นนี้เหมาะแก่พระพุทธรูปหรือไม่

เข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะให้พระพุทธรูปอยู่ใน ระดับเดียว​กัน ไม่ว่าพระพุทธรูปในวัดไหนๆ และใครจะเป็นผู้สร้างก็ตาม ย่อมสมควรได้รับความนับถือเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์เท่ากันหมด

นี่เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ที่ช่วยรักษาพระพุทธศาสนามิให้ถูกจูงไปสู่ลัทธิแบ่งชั้นวรรณะ มิให้กระแสชองพระพุทธโอวาทเดินไปนอกทางของประโยชน์อันใหญ่หลวง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตรึงอยู่กับเสรีภาพ และสมภาพโดยแท้

เขตทอดพระกฐินต้องสิ้นสุดลงวันกลางเดือน ๑๒ ตามวินัยนิยม ในระหว่างนี้เกิดเรื่องหยุกหยิกขึ้นทางนครเวียงจันทน์

ควรเล่าความเดิมของนครเวียงจันทน์สักเล็กน้อย นครเวียงจันทน์แท้ตั้งอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย ที่จริงคนในเมืองนั้นล้วนเป็นไทยทั้งสิ้น ต่างแยกย้ายตั้งเป็นอิสระสืบกันมาช้านาน จนอาณาเขตของแต่ละฝ่าย เกือบจะชักพาให้ลืมชาติเดิมของตนเสีย ถึงตอนต้นสมัยกรุงธนบุรี นครเวียงจันทน์ตกที่คับขัน เคยขอความช่วยเหลือ เมื่อคราวเกิดพวกข่ากบฏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง กาญจนาคม) ผู้ครองนครราชสีมานำกองทัพไปช่วยนครเวียงจันทน์ปราบข่ากบฏ จนเหตุการณ์สงบราบคาบ

นครเวียงจันทน์ก็แสดงท่าทีอยากจะเป็นมิตรกับกรุงธนบุรี แต่รั้งๆรอๆ เพราะเกรงพม่า และเพราะยังไม่ไว้ใจว่า กำลังของกรุงธนบุรีจะเข้มแข็งพอช่วยนครเวียงจันทน์ต่อต้านพม่า ได้อ้อแอ้เรื่อยมาจนเกิดเรื่องร้ายขึ้น คือตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี เจ้านครเวียงจันทน์เป็นอริวิวาทกับพระวอ เสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งเคยอุปการะกันมา ในที่สุดถึงรบกัน แต่พระวอสู้ไม่ได้ อพยพหนีมาตั้งอยู่นครจัมปาศักดิ์ แล้วเลื่อนไปตั้งอยู่ดอนมดแดง เข้าในแขวงพระราชอาณาจักรกรุงธนบุรี บอกขอสวามิภักดิ์มายังใต้เบื้องบทมาลย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็โปรดให้รับไว้ในพระราชอาณาจักร

ฝ่ายนครเวียงจันทน์ได้ทราบว่า พระวอออกจากนครจัมปาศักดิ์ไปตั้งอยู่ ณ ดอนมดแดง ซึ่งบัดนั้นยังเป็น ชายพระราชอาณาจักรเขตกรุงธนบุรี เข้าใจว่าทางกรุงธนบุรีคงจะไม่เหลียวแลถึง กำลังของกรุงธนบุรีเห็นจะ ยังไม่มีพอปกแผ่รักษาทั่วกันได้ หากจะจู่โจมลอบเข้าทำการก้ำเกินสักครั้งคราวหนึ่งอย่างรวดเร็ว ก็น่าจะไม่มีเรื่องร้าวรานถึงกรุงธนบุรีเป็นแน่


๖. นี่เป็นการคาดคะเนผิดถนัดของนครเวียงจันทน์ ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นขึ้นไปสักหน่อย คงไม่มีเรื่องวู่วามจริง เพราะการปกครองอ่อนแอมาก

แต่สมัยกรุงธนบุรีไม่เหมือนสมัยก่อน ไม่ยอมให้ใครลู่คมง่ายๆ อาณาเขตทุกทิศทุกทางอยู่ในความระแวดระวังทั่วถึงกัน ครั้นเจ้านครเวียงจันทน์อุกอาจยกทัพตามมาทำร้ายพระวอในพระราชอาณาเขตประเทศ ไทย ความทราบถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้กองทัพไทยขึ้นไปปราบโดยด่วน

กองทัพไทยตีได้นครเวียงจันทน์ ทั้งนครหลวงพระบางก็ยอมสวามิภักดิ์ด้วย พระเจ้าบุญสารผู้ครองนครเวียงจันทน์ หนีเล็ดลอดไปได้ กองทัพไทยจึงให้พระยาสุโภอยู่รักษานคร แล้วเชิญราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าบุญสารลงมา ณ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ทะนุบำรุงราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าบุญสาร ไว้เป็นอั​นดี

ที่ตรงนี้มีเรื่องเกร็ดแทรก ตามคำเล่าของชาวอีสานบางคน ซึ่งพยายามสืบเสาะเรื่องเก่าๆสมัยนั้น ได้เล่าว่า เมื่อกองทัพไทยกลับถึงกรุงธนบุรี กราบทูลถวายบรรดาทรัพย์และเชลยศึกตามหน้าที่ ปรากฏว่ามีเจ้าหญิงราชธิดาพระเจ้าบุญสารองค์หนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าตน ได้เสียต​ัวกับแม่ทัพไทยในระหว่างเดินทางแล้ว หาควรถวายเข้าเป็นหลวงไม่ เมื่อไต่สวนได้ความสมจริง จึงโปรดให้จำคุกแม่ทัพไทยเสีย ๓ เดือน พ้นโทษแล้วให้คงยศตามเดิม เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใด ยากที่จะวินิจฉัย เพราะเป็นเพียงคำเล่าอย่างเดียว หาหลักฐานอย่างอื่นๆสนับสนุนไม่ถนัด

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบ ไม่ว่าเมืองใด ทรงห้ามขาดมิให้ทหารทำร้าย หรือทำอันตรายแก่พวกเจ้าเมือง ใครจับได้ต้องถวายเป็นหลวง เพื่อมิให้ลูกหลานเจ้าเมืองต้องอัปยศ ผู้ใดขัดขืนมีโทษหนัก (ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ เรื่องปราบเมืองพุทไธมาศ พ.ศ. ๒๓๑๔)

หากว่าเรื่องที่เล่ามานั้นมีมูลอยู่บ้าง จะเห็นได้ว่าการลงโทษแม่ทัพไทยผู้บังอาจนั้นเบาเกินไป แต่เพราะแม่ทัพมีความชอบในการตีนครเวียงจันทน์ได้ จึงโปรดให้ลงโทษแต่น้อย ก็เห็นจะสมควรกันแล้วกระมัง

รุ่งขึ้นปีฉลู กลางปี พระเจ้าบุญสารลอบยกกำลังมาตีนครเวียงจันทน์ ฆ่าพระยาสุโภ ผู้รักษานครนั้นเสีย ความทราบมาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาตั้งเจ้านันทเสนราชบุตรพระเจ้าบุญ สาร เป็นพระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เจ้าพระนครเวียงจันทน์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๒๔ โปรดให้พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น การเมืองทางนครเวียงจันทน์ก็สงบ นับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำเนินพระราโชบาย เหมาะแก่สภาพการเป็นอย่างดี

พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เป็นผู้เข้มแข็งมาก และภักดีมั่นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อได้รับตำแหน่ง ครองนครเวียงจันทน์แล้ว ก็รีบทะนุบำรุงบ้านเมืองเต็มที่ หัวเมืองต่างๆ ที่แตกแยกออกไปในสมัยอ่อนแอ ก็อุตส่าห์รวบรวมกลับคืนตามเดิม และติดต่อสมัครสมานกับนครหลวงพระบาง ไม่วิวาทร้าวรานกันดังแต่ก่อน ราชอาณาจักรไทยเวลานั้นในด้านอีสานร่วมด้วยอุดรจึงแผ่ไปตลอดสิบสองจุไทย หัวพันห้าทั้งหก และหัวเมืองพวน

วันเดียวกับที่พระเจ้านันทเสนฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์นั้น เกิดเรื่องร้ายขึ้นในหมู่ชนชาวญวนสามิภักดิ์ ซึ่งมีองเชียงชุนเป็นหัวหน้า


๗. องเชียงชุนเป็นอาขององเชียงสือ (คือพระเจ้าเวียดนามยาลอง) องเชียงชุนแตกหนีพวกราชวงศ์เล้ (พวกไตเชิง หรือไกเซิล) เข้ามาอยู่ในเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) ต่อจากเมืองตราดออกไป กองทัพไทยไปปราบเมืองพุทไธมาศจับองเชียงชุนได้

ในคราวนั้น องเชียงชุนยอมสามิภักดิ์อยู่กับไทยโดยดี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเชียงชุน ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชาเศรษฐี เทียบเท่าบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองพุทไธมาศ (ปรากฏนามอยู่ในหมายรับสั่ง เรื่องรับและสมโภชพระแก้วมรกต ดูหนังสือเอกสารสำคัญ รวบรวมโดยศรีชลาลัย ภาค ๑ หน้า ๒๕ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)

การสามิภักดิ์ทำนองนี้ หมายความว่า มิใช่ตั้งใจมาสามิภักดิ์โดยตรง หากเป็นเพราะไม่มีทางไปอีกแล้ว ก็จำต้องสามิภักดิ์พอผ่อนหายใจ จนกว่าจะมีลู่ทางอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

พระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ได้รับพระมหากรุณาเข้ามาอยู่ในกรุงและรับราชการตั้งแต่ตอนต้นรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาจนถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ก็ถูกจับโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ พร้อมกับพรรคพวกอีกหลายคน (พงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียง กล่าวถึงเรื่องนี้ ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ หน้า ๘๗)

ทำไมพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) จึงคิดกบฏ ข้อนี้จะต้องเล่าเหตุการณ์ในเมืองญวนนำทางเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

เมื่อตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองญวนยังไม่มีไมตรีกับไทย ขณะที่กองทัพไทยออกไปปราบ เมืองพุทไธมาศและกัมพูชาในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ ญวนได้กะทบกะทั่งกับหน่วยทหารของกองทัพไทยบ้างเล็กน้อย โดยกองทหารฝ่ายญวนทำการขัดขวางการสื่อสารของไทยบางแห่ง และเข้าแทรกแทรงเมืองปาสักอีกด้วย (ดูประขุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้โกษาธิบดีมีหนังสือไปว่ากล่าวญวนในทาง ไมตรีก่อน แต่น่าจะไม่เป็นผล เพราะความเข้าใจผิดและความปรารถนาอันผิดของญวน ทำให้ญวนมองไม่เห็นทางไมตรีกับไทยได้ถนัด

ปรากฏในพงศาวดารของญวนเองว่า บางคราวเรือสินค้าหลวงของประเทศไทยเคยถูกญวนตีปล้น พวกตีปล้นไม่ใช่ญวนสามัญ เป็นพวกกรมการหัวเมืองของญวน ความประพฤติเลวทราม ข้อนี้ ย่อมจะเพิ่มความเกลียดชังให้แก่ชาวไทยมากขึ้น

แม้พงศาวดารของญวนยังจารึกความข้อนี้ไว้ ต้องเข้าใจว่า คงไม่ใช่ครั้งเดียวและไม่ใช่การเล็กน้อย ที่กรมการหัวเมืองของประเทศญวนทำการรังควานเรือค้าขายของไทย ในทำนองปล้นอย่างสลัด แต่ด้วยพระราชหฤทัยอันหลักแหลมและลึกซึ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามที่จะไม่ถือโทษ ทรงหาทางที่จะทำความเข้าใจอันดีต่อกันมากกว่า เพราะไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะเป็นศัตรูกับญวนเลย จึงทรงพระกรุณาให้รับองเชียงชุนผู้เป็นอาขององเชียงสือมาชุบเลี้ยงจนได้เป็น ที่พระยา​ราชาเศรษฐีดังกล่าวแล้ว แต่ทางเมืองญวนอนำก๊กจะคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้ไม่ปรากฏเรื่องราว

ครั้นเมื่อพวกเจ้าเมืองอนำก๊กถูกพวกราชวงศ์เล้ตีแตกยับเยินลงมาทางใต้ กำลังต้านทานเหลือน้อยลงทุกที จึงคิดหากำลังทางเมืองเขมรโดยด่วน พยายามเข้าแซกแซงการเมืองเขมร จนเกิดกบฏขึ้นในเมืองเขมร พ.ศ. ๒๓๒๓ ทำให้เขมรย่อยยับลงไปมากมาย พวกกบฏปลงพระชนม์สมเด็จพระรามราชา กษัตริย์วีรราชแห่งเขมร พร้อมทั้งราชบุตรที่ยังทรงพระเยาว์วอดวายหมด ญวนเร่งส่งกำลังหนุนเขมรฝ่ายกบฏ และพยายามสูบหาประโยชน์ จากเมืองเขมรอย่างเร่งร้อน เพื่อนำไปใช้สู้รบกับราชวงศ์เล้ ในระยะใกล้ๆกันนี้ยังหาโอกาสส่งคนสนิทเข้ามาติดต่อกับ พระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ในกรุงธนบุรีอีก จนทางราชการของไทยจับได้ สืบสวนได้ความว่าพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) กับพวกเป็นกบฏแน่ จึงต้องรีบจัดการปราบทันที และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น จึงโปรดให้กองทัพไทยออกไปจัดการเมืองเขมร แล้วให้เดินทางไปรับมือกับญวนให้เด็ดขาดลงไปทีเดียว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทแห่งพระราชวงศ์กู้ชาติ เป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสรศรี (บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง) และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา


๘. โปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ คือหลังจากปราบกบฏญวนในพระนครแล้วครึ่งเดือนเท่านั้น

ถ้ากองทัพไทยออกไปทำการตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติคราวนี้เป็นผลสำเร็จ เมืองเขมรก็คงสำเร็จเรียบร้อย และมั่นคง ดินแดนญวนใต้ต่อจากเขมรออกไป ซึ่งแต่ก่อนไทยเคยอยู่มาแล้ว ก็คงจะกลับเข้ามาอยู่ในความคุ้มครอง ของไทยตามเดิม ตัดความก้าวร้าวของญวนครั้งนั้นลงได้เด็ดขาด ด้านตะวันออกของไทยจะปลอดภัยดีที่สุด เมื่อเช่นนั้นก็ยังจะเหลือแต่งานด้านตะวันตกโดยเฉพาะ ซึ่งอาจทำได้ง่ายและเร็วขึ้น

งานด้านตะวันตกที่ว่านี้ก็คือการไปรับพวกพี่น้องชาวไทยที่เมืองพม่า ซึ่งเขาเหล่านั้นถูกกวาดต้อนไปครั้งกรุงเก่าแตก

แต่เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไป ตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติ ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้าง แต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมี และจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้น ไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแทรง ฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้อง สู้รบกับพวกราชวงศ์เล้ ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย (เป็นพี่เขยขององเชียงสือ) จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย

โชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้ กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับอยู่เหมือนกัน (ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๗๘ เป็นต้น) และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมาย ในการทำสัญญา (ดูพงศาวดารญวน เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒) ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพ สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน

ฝ่ายการในกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชักชวน ทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี ๓ คน คือ นายบุนนาค๑ หลวงสุระ๑ หลวงชะนะ๑ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรี ในเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที

ยังมีพวกกบฏแอบแฝงส้องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้น รับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า

ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในทันทีนั้นเองเสด็จตื่นบรรทมออกบัญชาการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพราะยังไม่ทรงทราบว่าเป็นข้าศึกต่างเมืองยกมา หรือเป็นแต่คนทรยศชาติไทยคิดก่อการกบฏขึ้น จวนรุ่งสว่าง ทหารหลวงยิงเรือพวกกบฏล่ม และกองเรือฝ่ายกบฏเริ่มถอยแล้ว ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรเห็น พวกกบฏล้วนเป็นคนไทยทั้งนั้น ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัยมาก เวลาบ้านเมืองเป็นอันตรายเสียแก่พม่าข้าศึก หามีคนกล้าหาญสะสมกำลังยกมาต่อสู้พม่าไม่ พระองค์สู้พลีพระชนม์ชีพเข้ามาต่อสู้พม่า จนปราบปรามลงราบคาบ กู้ชาติไทยกลับเป็นอิสระ ให้ไทยมีชาติพ้นจากความเป็นทาสพม่า ทรงพยายามทุกทางที่จะให้ไทยเจริญอย่างรวดเร็ว ให้ไทยทุกคนได้ทำมาหากินเป็นสุขสมบูรณ์ ไม่ให้ศัตรูดูหมิ่น ไม่ให้ต่างชาติเหยียดหยามไทย แม้จะต้องเหนื่อยหนักเท่าไร พระองค์มิได้ทรงยอมท้อถอย ทั้งไม่เคยมีพระราชจริยานุวัตรเป็นผลร้ายแก่ประเทศชาติ อุตส่าห์ก่อกู้ และสร้างชาติไทยจนเป็นปึกแผ่นสำหรับดำรงความเป็นไทยให้มั่นคง และขยับขยายประเทศชาติให้ไพศาลต่อไป ซึ่งพี่น้องชาวไทยผู้รักชาติควรจะปลื้มใจที่สุด แต่ไฉน จึงมีชาวไทยบางหมู่คิดกบฏต่อพระองค์ เพราะเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไรหรือ หรือว่าเพราะเขาต้องการความเป็นใหญ่เป็นโตครอบงำชาติไทยต่างหาก

๙. อย่างไรก็ตาม ถ้าเพียงที่พวกกบฏมีความมุ่งหมายจะทำลายพระองค์เสีย แต่บ้านเมืองและประเทศชาติยังคงอยู่ตามเดิม พระองค์ก็พร้อมที่จะให้การเป็นไปโดยไม่ขัดข้อง แต่ต้องเป็นไปโดยทางสงบ ไม่ทำให้ประชาราษฎรเดือดร้อนระส่ำระสาย เพราะชีวิตของพระองค์ขึ้นอยู่แก่ความสุขสมบูรณ์ของประชาราษฎรเป็นสำคัญ เมื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวไทยแล้ว การประหารชีวิตของพระองค์ไม่เป็นของประหลาดสำหรับพระองค์เลย เป็นหน้าที่ของชาติไทยเองที่จะต้องรับรู้ในเรื่องนี้ตลอดไป

ข้อนี้ เรายังนึกถึงพระราชดำรัสครั้งต้นแผ่นดิน (ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖ หน้า ๑๙) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตรัสต่อหน้าพระสงฆ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก ที่เมืองพุทไธมาศ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ พระราชดำรัสนั้นเท่ากับพระราชปฏิญญาทรงตั้งสัตยาธิษฐานให้ประจักษ์ไว้ว่าดัง นี้

"เป็นความสัตย์แก่ข้า ข้าทำความเพียรมิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อที่จะป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีร์ษะและหทัย วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น"

นี่คือพระราชดำรัสที่หนักแน่น เป็นเหมือนพรหมประกาศิตที่จารึกอยู่ในดวงใจของชาวไทยผู้กตัญญูทั้งหลาย อย่างไม่มีวันลบเลือน เมื่อถึงวาระสุดท้าย พระองค์ได้ทรงทำตามคำปฏิญญาจริงทุกอย่าง ในระหว่างทรงผนวช มิใช่หมดโอกาสปราบกบฏ แต่เป็นวิสัยพระมหากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ทรงพยายามแต่จะให้การเป็นไปโดยสงบทุกทาง ซึ่งผู้ที่ใช้ความไตร่ตรองสักหน่อย ก็จะมองเห็นพระราชหฤทัยอันเต็มด้วยพระมหากรุณาอย่างสุดซึ้ง

ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวช เพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก ๓ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไข เสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงขัดข้องอย่างใด ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออก ทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว ๓ เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม (เหมือนคราวเสด็จออกทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕)

เหตุไฉนพวกกบฏจึงขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จออกทรงผนวช ทำไมจึงไม่บุกบั่นเข้าถึงพระองค์ แล้วจับสำเร็จโทษเสียเล่า

ข้อนี้คงเป็นเพราะกำลังของพวกกบฏยังไม่พอจะทำได้เช่นนั้นประการหนึ่ง หรือบางทีอีกประการหนึ่งคงเป็นเพราะราษฎรไม่ต้องการเช่นนั้น แม้ว่าเหล่าราษฎรที่ถูกหลอกให้เข้ากองทัพมาทำการกบฏ ก็คงจะไม่ลืมพระคุณ ถึงกับคิดฆ่าพระองค์ทีเดียว ขอเพียงให้พระองค์ทรงผนวชชั่วคราวเท่านั้นก็พอแล้ว หากพวกกบฏแท้ๆ จะคิดหักหาญเกินไป ความลับจะแดงขึ้นถึงต้องปะทะกับราษฎรอีกก็เป็นได้ จึงจำใจขอเพียงให้ทรงผนวช ๓ เดือน เพื่อให้ถูกใจราษฎรที่หลงเชื่อคำปลุกปั่นพลางๆ เมื่อราษฎรกลับคืนบ้านเรือนของตนๆหมดแล้ว เรื่องต่อไป คิดอ่านภายหลังก็คงได้ เพราะผนวชแล้วจะเชือดเนื้อเถือหนังอย่างไร เมื่อไม่เกรงบาปในการทำลายพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะทำได้ง่ายๆ แต่ความโหดร้ายจะติดแผ่นดินอยู่ไม่รู้สิ้น


๑๐. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชแล้ว ๑๒ วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓) พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ยกทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านปูน ตอนเหนือพระราชวังหลวง พงศาวดารได้เสริมความตอนนี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกว่า พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) กับพระยาสรรค์ปรึกษากันให้สึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกจากพระภิกษุแล้ว พันธนาการ​ไว้ ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (คือโซ่ตรวน)

แต่ข้อนี้ ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะจดหมายเหตุความทรงจำยืนยันว่า จนถึงเวลาที่พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกองไปปราบกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังทรงผนวชอยู่ตามเดิม ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียง พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ ก็รับรองว่า ขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ยกทัพรีบรุดเข้ามาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเพศเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นอันฟังได้ว่า ในตอนนี้ยังไม่ถูกจับสึก และพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) คงไม่กล้าพอที่จะหักหาญจับพระผู้กู้ชาติสึกง่ายๆ

แต่การมาของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ในลักษณะเช่นนี้ คงทำให้พวกข้าหลวงรักษาพระนครคิดไปในทางแง่ร้าย เพราะพวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) การบริหารราชการ จึงยากที่จะเป็นไปตามปกติ ความไม่สงบก็พลันที่จะเกิดขึ้นทั่วๆไป พวกพลอยผะสมผะสานก็เทไปเทมา ตามที่เห็นว่า จะได้ประโยชน์แก่ตัวในขณะนั้น พวกเหล่านี้ไม่มีเวลาคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศบ้านเมืองเลย ลางแห่งความระส่ำระสายปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว ก็จำเป็นที่ข้าหลวงรักษาพระนครจะต้องรีบจัดการ ตัดต้นเหตุเสียโดยเร็ว ปรึกษาตกลงกัน ขอให้พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามทรงดำเนินงาน ตามที่เห็นสมควรต่อไป

กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ ๑๑ วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามน้อยนัก เป็นธรรมดาน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง

นี่เป็นข้อประจักษ์ชัดแล้วว่า พวกชาวกรุงเก่าถูกหลอกให้เฮโลเข้ามาทำการกบฏต่อพระผู้กู้ชาติของตนเอง แต่ผลแห่งการกบฏนั้น พวกราษฎรคงนึกไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุให้พระผู้กู้ชาติของตนต้องถูกปลงพระชนม์ ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา (และเขาได้สำนึกดีต่อเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ โดยร้องไห้บูชาพระคุณอย่างน่าสังเวช)

ในขณะที่จะเกิดรบกัน ระหว่างกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กับกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว มีพระราชดำรัสห้ามมิให้ต่อรบกัน เพราะทรงต้องการความสงบแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรเปลี่ยนในลักษณะที่สงบ เพราะเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ข้าศึกต่างเมืองมาแต่ไหน และพระองค์เอง ก็คือ พระผู้กู้ชาติให้ไทยกลับฟื้น ไม่ใช่ยักษ์มารหรือคนทรยศชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย พระองค์โปรดให้เลือกดำเนินในทางสงบ ก็เพื่อมิให้ราษฎรต้องพลอยเสียเลือดเนื้อ สงวนเลือดเนื้อไว้ใช้เพื่อชาติดีกว่า แต่พระราชปรารภสันติภาพเพื่อสันติสุขแก่ชาติไทยเช่นนี้ สำหรับสมัยนั้นต้องนับว่าสูงเกินไปมิใช่หรือ ใครเล่าจะเข้าใจถึงพระราชประสงค์อันแท้จริง

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว ๓ วัน พอเช้าวันที่ ๖ เมษายน เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่ มาถึงพระนคร แต่ก่อนจะมานั้นได้ให้กองทัพญวนและเขมรช่วยล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ (ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒ และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ หน้า ๙๕ จึงจะเข้าใจความตอนนี้ได้กระจ่าง)

ในวันที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เข้ามาถึงนั้นเอง ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป


๑๑. บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถ ของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติ บริหารการแผ่นดินโดยด่วน

ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว คนเหล่านั้นทราบดีว่า ถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น ๒๘ วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคต เมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า ๕๐ นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น

ต่อจากนี้เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขไทย เริ่มการสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออก ตรงที่ตั้งค่ายมั่นทหารบกของกรุงธนบุรี ริมฉางหลวง ฝ่ายพระราชวงศ์กู้ชาติที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และ สมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา แต่กระนั้นพระราชวงศ์กู้ชาติยังคงสืบสายไม่ขาดมาจนถึงทุกวันนี้ (ดูหนังสือไทยต้องจำ และลำดับสกุลเก่า ภาค ๔ ของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๒)

ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์แล้ว ท่านก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น แต่ก็ไม่ปรารถนาหาอำนาจแก่ตัว ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย

เมื่อข่าวการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแพร่ออกไปแล้ว เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด อันเป็นเมืองสำคัญทางภาคตะวันตก ก็หลุดลอยไปจากไทย ตกอยู่แก่พม่าในปีนั้นเอง ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวน ตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกไตเซิง) ๒ ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน

ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน อย่างน่าอับอาย และเสียประโยชน์อีกมากต่อมาก (ดูพงศาวดาร ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๙๔, ๔๑๙ และไทยต้องจำ พิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๑๓) เรื่องนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ขอยกไว้ไม่ต้องกล่าว

ลองหันไปตรวจดูปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่า เป็นปีที่เต็มไปด้วยพระคุณ เป็นปีที่ไทยจะเกรียงไกรยิ่งขึ้น แต่โชคยังไม่อำนวยให้แก่แผ่นดินไทย เพราะฉะนั้น พอปลงพระชนม์พระองค์ท่าน ไม่นานนัก ก็ต้องเสียเมืองสำคัญ เสียชีวิตแม่ทัพนายกอง เสียความเข้มแข็ง เสียมาตามลำดับกาลเวลา กว่าโชคจะกลับอำนวย ความรุ่งเรืองเริ่มขึ้นใหม่.

ข้าอุตส่าห์กู้ธานี
มีใครบ้างไหม มองเห็น
ฤามี แต่ตาดูไม่เป็น
เข่นฆ่า แล้วเหยียบย่ำทำไม

----- อวสานต์ -----

No comments:

Post a Comment