Thursday, January 24, 2013

ทำไมรัชกาลที่ 1 สั่ง"เผาศพ" พระเจ้าตาก ในปี พ.ศ.2327 ?




โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com มติชน 7 ส.ค.2555
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินหน้าพระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม ธนบุรี
บรรดาพระมหากษัตริย์ของสยามเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระเจ้าตาก" มีการกล่าวถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่ง 
ใครจะคิดว่ากษัตริย์ที่ถูกรัฐประหาร ต้องโทษจนสิ้นพระชนม์ ราชธานีกรุงธนบุรี และพระราชวงศ์ที่มีอายุแค่ 14-15 ปี ไม่ได้มีเวลาสร้างรากฐานมั่นคง ยิ่งใหญ่ หรือเป็นที่ยำเกรงเท่าใดนัก จะเป็นที่สนใจของผู้คนและสังคมมากกว่า 200 ปี

นั่นเพราะอีกมุมหนึ่ง พระองค์คือกษัตริย์ผู้กอบกู้อิสรภาพของสยามจากพม่า

ปรามินทร์ เครือทอง ค้นหามาเล่าสู่กันฟังในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนสิงหาคม ในบทความที่ชื่อว่า "สงสัย รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ก่อนขุดหีบศพพระเจ้าตากมาเผา?"

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการสำเร็จโทษพระเจ้าตากโดยตัดพระเศียร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วนำพระบรมศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

หลังจากนั้น 2 ปี (พ.ศ.2327) พระองค์มีพระราชดำรัสให้ "ขุดศพ" พระเจ้าตากขึ้นมาเผา อะไรคือเหตุผลในครั้งนั้น ปรามินทร์สงสัยและตั้งคำถามได้น่าสนใจ

1.เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณีหรือ?  

วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษและฝังพระศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ที่ผ่านมาการปราบดาภิเษกในอดีตของสยามประเทศมีมาหลายต่อหลายครั้ง อดีตกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ด้วยการสำเร็จโทษหลายพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เกือบทั้งหมดน่าจะยังคงฝังอยู่ที่ "วัดโคกพระยา" เท่าที่มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารไม่เคยมีการขุดพระบรมศพขึ้นมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิง

หากยึดตามโบราณราชประเพณี จึงน่าสรุปได้ว่า "ไม่ขุด ไม่เผา ไม่ผิด"

2.เมื่อไม่มีพระราชประเพณีกำหนดไว้ก็ต้องถามว่า เช่นนั้นวัตถุประสงค์ในการนี้จึงมีคำตอบอยู่ระหว่าง "การเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "การทอนพระเกียรติ"
ซึ่งข้อมูลที่ผู้เขียน (ปรามินทร์) อ้างอิงจากการค้นคว้าพระราชพงศาวดารต่างๆ ดังนี้

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน บันทึกว่า "ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครฯ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ดำรัศให้ขุดหีบศพเจ้ากรุงธนบุรี ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือไต้ ให้มีการมโหรศพ แลพระราชทานพระสงฆบังสกุล เสดจพระราชดำเนิรไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์"

ส่วนพระราชพงศาวดารอื่นๆ บันทึกตรงกันว่าให้ "ขุดหีบศพ" ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้

พระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 "ตำนานวัด" เล่าว่าเป็นจุดที่ฝังพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสิน



พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย มีข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานพระบรมศพพระเจ้าตากคือ "ดำรัสให้ขุดศพเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นทำการฌาปนกิจ ที่เมรุวัดบางยี่เรือใต้"

จากคำที่ใช้ไม่ว่า หีบศพ, บังสุกุล, ขุดศพ, ฌาปนกิจ แสดงให้เห็นว่าไม่มีการพระราชทานพระโกศอย่างศพเจ้า ไม่มีการใช้ราชาศัพท์

งานที่จัดเป็นเพียง "การเผาศพ" มากกว่า "การส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย"
3.นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง "เงื่อนเวลา" เหตุใดต้องรอเวลาถึง 2 ปี จึงค่อยจัดงาน ปรามินทร์ตั้งสมมติฐานไว้ว่า
หนึ่ง คือหลังวันประหารพระเจ้าตาก 6 เมษายน ปี พ.ศ.2325 ทั้งปีเป็นช่วงเวลาการกวาดล้างบารมี, แบบแผน ฯลฯ ของกลุ่มการเมืองเก่าให้หมดจด หลังจากนั้น ยังต้องสถาปนาราชวงศ์ใหม่, แต่งตั้งขุนนาง, สร้างราชธานีใหม่, กำหนดระเบียบบ้านเมือง ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มการเมืองเก่าหมดทางฟื้นคืน

ก่อนระยะเวลา 2 ปี จึงเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุสนับสนุนดังนี้

หนึ่งคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นแก่เจ้าฟ้าเหม็นหลานตาอันเป็นที่รัก พระราชโอรสของพระเจ้าตากกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ (พระราชธิดาของรัชกาลที่ 1) ในวัย 5 พรรษาเริ่มรู้ความ และช่างซักถาม แต่ก็จัดงานศพให้แบบสามัญชนเท่านั้น

หนึ่งเพราะต้องการปิดฉาก "อดีต" ของกรุงธนบุรีให้หมดจด เพื่อการเริ่มต้นเมืองใหม่ที่ดี โดยพิจารณาได้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ภายหลังงานฌาปนกิจพระเจ้าตากดังนี้

หลังจากการ "ฌาปนกิจ" พระบรมศพพระเจ้าตากในปี พ.ศ.2327 แล้ว ยังมีการยกยอดพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตามมาด้วยการอัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามฟากมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง

ปี พ.ศ.2328 เมื่อการสร้างพระนครและพระราชวังใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกใหม่ เป็นอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี, งานฉลองสมโภชพระนครและพระราชทานนามใหม่ว่า "กรุงเทพมหานครฯ"

ประเด็นข้างต้นนั้นเป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ที่ต้องการชวนให้ท่านผู้อ่านช่วยกันตั้งคำถาม หาคำตอบจากประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่สามารถโต้แย้ง ถกเถียงได้ 


ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน

No comments:

Post a Comment