Wednesday, April 3, 2013

เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ วันที่ 01 สิงหาคม พุทธศักราช 2546 (ปีที่ 24 ฉบับที่ 10) http://www.crma.ac.th/histdept/archives/articles/king-tak-to-the-east.htm

เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก

กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐

แต่ก่อนหน้านั้นราว ๓ เดือนกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อยังเป็นพระยาตาก ได้พาสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนจำนวนหนึ่ง ตีฝ่ากองทัพพม่ามุ่งหน้าไปทางชายทะเลตะวันออก

พระยาตากไม่ใช่ทั้งคนแรกและคนสุดท้าย ที่ได้ละทิ้งหน้าที่หลบหนีไป เพราะระบบการเมืองและสังคมของราชอาณาจักรศรีอยุธยาได้ล่มสลายลงก่อนที่พม่าจะระเบิดป้อมทลายกำแพงแล้ว

แต่นานไม่ถึง ๙ เดือนหลังจากเสียกรุง พระยาตากได้ประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ที่คนทั่วไปเรียกกันภายหลังว่าพระยาตาก ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยาคืน แล้วฟื้นฟูราชอาณาจักรศรีอยุธยาขี้นมาใหม่ ชื่อกรุงธนบุรี


พระเจ้าตาก

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์กผู้เคยพบเห็นพระองค์และรายงานไว้ว่า ทรงเป็น "ชายร่างเล็ก" แต่พระราชประวัติและวีรกรรมของพระองค์ยิ่งใหญ่นัก เป็นเหตุให้มีผู้แต่งเติมเสริมต่อเรื่องราวของพระองค์ออกไปจนดูราวกับ "นิยาย" ทั้งๆ ที่สาระสำคัญของพระราชประวัติสั้นนิดเดียว ดังนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพในฐานะสามัญชนลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียน และแม้ยังมีถิ่นฐานบ้านช่องและญาติพี่น้องอยู่ในภาคกลาง โดยเฉพาะที่พระนครศรีอยุธยาและลพบุรี แต่ก็ได้ทำการค้าอยู่ในหัวเมืองเหนือชายแดน

เมื่อสบโอกาสก็ได้เข้ารับราชการในหัวเมืองไกล คือ ตาก-ระแหง และในที่สุดก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก

ทรงเสกสมรสกับสามัญชนด้วยกัน ซึ่งมิได้มาจากตระกูลใหญ่นัก

ในสงครามครั้งเสียกรุง ได้กวาดต้อนไพร่พลหลบพม่าลงมาเป็นกำลังแก่กรุงศรีอยุธยา ได้บำเหน็จความชอบจากการนั้น

ระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ก็ได้ทำการต่อสู้ จนปรากฏชื่อว่าเป็นนายทัพที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ไพร่พลที่นำมาจากเมืองตาก-ระแหงก็ยังคุมกันติดเป็นกองของตนเอง ซึ่งปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐบาล

ในที่สุดก่อนที่กรุงจะเสียแก่พม่า ก็ได้นำกำลังคนจำนวนน้อยของตนเอง และอาจรวมผู้อื่นที่เข้าสวามิภักดิ์เพิ่มขึ้นบ้าง ประกอบด้วยไพร่พลทั้งไทยและจีน พากันตีแหกพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองฝั่งตะวันออก และเริ่มหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์ของตนเองและของประเทศไทย

เส้นทางพระเจ้าตากหนี

วันเสาร์ ตอนเที่ยงคืน ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๐๙ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดลามมาถึงสะพานช้างวงคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดฉัททันต์ ติดกุฎีวิหารและบ้านเรือนมากกว่าหมื่นหลัง

ไฟไหม้ในพระนครยังไม่ดับ พระยาตากก็ยกสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนออกจากค่ายวัดพิชัย เดินทัพไปทางบ้านหันตรา

พม่ายกพลติดตามทัน ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ พม่าต่อต้านมิได้ก็ถอยกลับไป

พระยาตากเดินทัพต่อไปทางบ้านข้าวเม่า จนถึงบ้านสามบัณฑิต เวลาสองยามเศษ เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟรุ่งโรจน์โชตนาการยังไหม้กรุงอยู่ ก็ให้หยุดพักทัพ

วันอาทิตย์ รุ่งเช้า พระยาตากเดินทัพไปถึงบ้านโพสามหาว หรือโพสาวหาญ หรือโพสังหาร

พม่ายกพลติดตามไปอีก ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ทัพพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไป

พระยาตากให้เดินทัพต่อไป ตอนเย็นถึงบ้านพรานนก หยุดพักแรม ให้ทแกล้วทหารออกไปลาดเลี้ยวเที่ยวหาอาหาร พบกองทัพพม่ายกมาจากบางคาง (ปราจีนเก่า) พม่าไล่ติดตามมา พระยาตากจึงขึ้นม้าพร้อมไพร่พลออกรบพม่าก่อน กองทัพพม่าแตกพ่ายกระจายไป

ทแกล้วทหารเห็นกำลังบุญฤทธิ์พระยาตากเป็นอัศจรรย์ ก็ยกย่องว่าเป็น "จอมกษัตริย์สมมุติวงศ์" เท่ากับแสดงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นพระมหากษัตริย์

รุ่งขึ้นขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองช้างเมืองนครนายกมีจิตสวามิภักดิ์ เอาช้างมาถวาย ๖ ช้าง นำเสด็จถึงบ้านบางดง เข้าหยุดประทับในที่นั้น แล้วสั่งให้ขุนหมื่นพันทนายบ้านยอมอ่อนน้อม แต่ไม่สำเร็จ กลับท้าทายอีก แล้วตั้งค่ายจะสู้รบ

รุ่งขึ้น พระเจ้าตากยกเข้าตีค่ายได้ช้าง ๗ ช้าง

พระเจ้าตากยกพลไปประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายก แล้วประทับรอนแรมไปอีกสองวันก็ถึงบ้านนาเริ่ง

ออกจากบ้านนาเริ่งวันหนึ่งถึงเมืองปราจีนบุรี ข้ามแม่น้ำที่ด่านกบ (แจะ) (ประจันตคาม ปราจีนบุรี) ให้พักรี้พลหุงอาหาร กินเสร็จแล้วเดินทัพข้ามทุ่งไปจนตกเย็น หยุดพักทัพรอสมัครพรรคพวกที่ตามไม่ทันอยู่ ๓ วัน (เอกสารบางเล่มบอกว่าอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์)

ฝ่ายพม่าเกณฑ์ทัพเรือให้ขึ้นมาสมทบกับทัพบกตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ (โจ้โล้) ยกไปขึ้นที่ท่าข้าม ติดตามกองทัพพระเจ้าตากได้รบกันหนักจนพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป

จากนั้นพระเจ้าตากยกพลนิกายไปทางบ้านทองหลาง บ้านสะพานทอง (อ.พานทอง?) บางปลาสร้อย ก็เป็นอันพ้นกองทัพพม่า

ทำไมต้องหนี?

พระยาตาก ทำไมต้องหนีจากกรุงศรีอยุธยา? อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังต่อไปนี้

ราว ๓ เดือนก่อนกรุงแตก พระยาตากซึ่งขณะนั้นออกมาตั้งอยู่ในค่ายวัดพิชัยนอกกำแพงเมือง ก็ได้พาสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนจำนวนไม่มากนัก ตีฝ่าพม่าออกไป

ในนาทีนั้น พระยาตากก็ขาดออกไปจากรัฐบาลราชอาณาจักรอยุธยาในราชวงศ์บ้านพลูหลวงโดยเด็ดขาด

พระยาตากไม่ใช่ทั้งคนแรกและคนสุดท้าย ในบรรดาข้าราชการที่รักษาพระนครครั้งนั้น ซึ่งได้ละทิ้งหน้าที่หลบหนีไป มีทั้งข้าราชการและประชาชนพากันหลบหนีออกจากพระนครอยู่ตลอดมา ทั้งเพราะความอดอยาก และทั้งเพราะรู้อยู่แล้วว่ากรุงศรีอยุธยาจะไม่รอดจากเงื้อมมือพม่า เนื่องจากราชอาณาจักรศรีอยุธยาได้ล่มสลายลงก่อนที่พม่าจะระเบิดป้อมทลายกำแพงแล้ว

สิ่งที่ล่มสลายไปก่อนคือ ระบบการเมืองและสังคมของกรุงศรีอยุธยาเอง

พระยาตากไม่มีฐานกำลังของตนเองในพระนครศรีอยุธยา ผู้คนที่นำลงมาด้วยจากเมืองตากก็เป็นขุนนางบ้านนอกด้วยกัน ยิ่งเมื่อไปตั้งอยู่ในค่ายวัดพิชัยนอกเมืองแล้ว ก็คงขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก เพราะไม่มีใครคิดจะส่งเสบียงให้ ถึงแม้จะกลับเข้าเมือง ก็คงไม่มีโอกาสได้เสบียงเลี้ยงกองทัพ

เพียงด้วยเหตุผลเรื่องเสบียงอย่างเดียว โดยยังไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าพระยาตากจะอยู่ในพระนครต่อไปไม่ได้ ไพร่พลที่อยู่ด้วยนั้นจะคุมไว้ก็คงลำบาก เพราะต่างก็จะต้องหลบเร้นหนีหายเพื่อหาอาหารประทังชีวิต

มีเหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้นคือตีฝ่าพม่าออกไปทั้งกอง หนีไปตายเอาดาบหน้า โดยวิธีนี้ก็จะสามารถคุมกำลังกันติด อันจะเป็นเหตุให้สามารถหาเสบียงอาหารได้สะดวกกว่าปล่อยไพร่พลหนีหายกระจัดกระจายไม่เป็นทัพเป็นกอง

แล้วพระยาตากก็ตีฝ่าพม่ามุ่งหน้าไปยังหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก

ทำไมต้องมุ่งตะวันออก?

ทำไมพระยาตากต้องไปหัวเมืองชายทะเลตะวันออก?

ประการแรก จะตีฝ่าพม่ากลับไปเมืองตาก เป็นสิ่งที่เป็นไปเกือบไม่ได้ เพราะพม่ายึดไว้หมดแล้ว ฐานกำลังถ้าจะมีอยู่บ้างก็คงแตกกระจัดกระจายหนีไปหมดแล้ว ใช้อะไรไม่ได้

ประการที่สอง ทางด้านตะวันออกยังค่อนข้างปลอดภัยจากกองทัพพม่ามากกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชาธิบายว่า พ้นจากเมืองชลบุรีไปทางตะวันออกก็พ้นพม่าเสียแล้ว

ประการที่สาม หัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกเป็นศูนย์กลางของการติดต่อกับส่วนอื่นๆ ของราชอาณาจักร เช่น เมืองจันทบูรเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเรือข้ามอ่าวไทยลงสู่ปักษ์ใต้ ทั้งอาจติดต่อกับเขมรและพุทไธมาศได้สะดวก ถ้าถึงที่สุดแล้วเมืองจันทบูรยังเป็นปากทางที่จะหนีไปที่อื่นๆ ได้ง่าย

ประการที่สี่ มีชาวจีนสายแต้จิ๋วตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ย่อมมีโอกาสและกาสมัครพรรคพวกได้อีก

มุ่งหน้ายึดเมืองระยอง

เมื่อเสด็จถึงบ้านนาเกลือ (บางละมุง) นายกล่ำเป็นนายชุมนุมคุมไพร่พลอยู่ที่นั่น คอยสกัดคิดประทุษร้าย พระเจ้าตากเสด็จทรงช้างทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ เข้าไปในหว่างพลทหารซึ่งนายกล่ำอยู่นั้น นายกล่ำกับพรรคพวกเกรงกลัวอานุภาพ วางอาวุธถวายบังคมอ่อนน้อม

วันรุ่งขึ้นนายกล่ำคุมไพร่นำเสด็จไปถึงพัทยา หยุดประทับแรม

รุ่งขึ้นไปประทับแรมที่นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ แห่งละคืน

รุ่งขึ้นเดินทัพทางริมทะเลถึงหินโด่ง และน้ำเก่า เข้าแขวงเมืองระยอง

ผู้รั้งเมืองระยองและกรมการทั้งปวงชวนกันมาต้อนรับเสด็จ ถวายธัญญาหารเกวียนหนึ่ง เสด็จไปประทับอยู่วัดลุ่ม ๒ วัน รับสั่งให้จัดลำเลียงอาหารขุดค่ายคู

ขณะนั้นมีผู้แจ้งเหตุว่า กรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นส้อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง เป็นต้น คบคิดกันคุมพรรคพวกจะยกเข้าทำประทุษร้าย

พระเจ้าตากจึงทรงวางแผนปราบปรามจนราบคาบล้มตายแตกยับเยิน จึงตรัสให้ยับยั้งอยู่บำรุงทแกล้วทหารให้มีกำลังอยู่เมืองระยองประมาณ ๗-๘ วัน

เมื่อเสด็จสถิตอยู่เมืองระยอง พระเจ้าตากมีพระราชดำริให้ข้าหลวงไปเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบูรให้ยอมอ่อนน้อม เพื่อไม่ให้เกิดสงคราม พระยาจันทบูรทำอุบายผัดผ่อนเรื่อยมา

ระหว่างรอเวลาให้พระยาจันทบูรยอมอ่อนน้อม พวกขุนรามหมื่นส้องกับนายทองอยู่นกเล็กที่แตกไปจากเมืองระยองลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าไปเนืองๆ

พระเจ้าตากจึงเสด็จกรีธาทหารออกจากเมืองระยอง ไปบ้านประแส บ้านไข้ บ้านคา บ้านกล่ำ บ้านแกลง ที่อ้ายขุนรามหมื่นส้องตั้งอยู่นั้นเพื่อปราบปราม ขุนรามหมื่นส้องแตกหนีไปอยู่กับพระยาจันทบูร

เมื่อได้ครอบครัวช้างม้าโคกระบือล้อเกวียนที่ถูกขุนรามหมื่นส้องลักพาคืนมาแล้ว ก็เสด็จยกพลนิกรกลับมาเมืองระยอง บำรุงทแกล้วทหารรวบรวมเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อย เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร์อันแตกตื่นออกไปอยู่ป่าดงได้เป็นอันมาก พระเจ้าตากก็เสด็จรอท่าพระยาจันทบูรอยู่

เลียบเมืองชลบุรี

เมื่อทรงทราบว่านายทองอยู่นกเล็ก ตั้งอยู่เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริต คอยทำร้ายข่มเหงอาณาประชาราษฎร์ พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้ยกโยธาหาญไปปราบ

เสด็จไปทางบ้านหนองมน แล้วหยุดประทับที่วัดหลวง ดำรัสให้สหายนายทองอยู่นกเล็กไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมก่อน นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมโดยดี เข้ามาเฝ้าที่วัดหลวง แล้วนำเสด็จเข้าไปในเมืองชลบุรี ประทับอยู่เก๋งจีน

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาต่อไปว่า

"แล้วนายทองอยู่นกเล็ก จึงนำเสด็จทรงช้างพระที่นั่ง นายบุญมีมหาดเล็กเป็นควาญท้าย เสด็จเลียบทอดพระเนตรเมืองชลบุรี แล้วนายทองอยู่นกเล็กจึงพาขุนหมื่นกรมการถวายบังคม ทรงพระกรุณาให้นายทองอยู่นกเล็กเป็น พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร..."

เหตุการณ์ตอนนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า

ข้ามลำน้ำบางปะกงมาทางฝั่งตะวันออกตามชายทะเลนั้น ชุมชนใหญ่ที่มีกำลังมากมีอยู่ ๒ แห่ง คือ ชลบุรีหรือบางปลาสร้อยแห่งหนึ่ง และจันทบุรีแห่งหนึ่ง

บางปลาสร้อยนั้นมีกำลังกล้าแข็งเสียจนกระทั่งพระเจ้ากรุงธนบุรีหลบหลีกไปเสียเมื่อเสด็จไประยอง

แม้ภายหลังทรงสามารถเกลี้ยกล่อมให้นายทองอยู่นกเล็กเข้าเป็นพวกได้ ก็ต้องทรงประนีประนอมกับนายทองอยู่อย่างมาก นอกจากทรงยกย่องนายทองอยู่ไว้สูง คือเป็นพระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทรแล้ว ยังพระราชทานสิ่งของเครื่องยศที่สูงค่าด้วยที่สุดเท่าที่ได้พระราชทานผู้นำท้องถิ่นทั้งหมดที่เข้าสวามิภักดิ์

แล้วยังมีข้อตกลงที่เกือบเหมือนการยอมให้นายทองอยู่เป็นชุมนุมอิสระอีกชุมนุมหนึ่ง เพียงแต่ขึ้นกับพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ที่ระยองเพียงในนามเท่านั้น

ตีเมืองจันทบูร

เมื่อพระเจ้าตากเสด็จกลับไปประทับอยู่เมืองระยอง ฝ่ายพระยาจันทบูรเชื่อคำยุยงของขุนรามหมื่นส้อง แต่งอุบายให้พระสงฆ์มาเชิญเสด็จไปเมืองจันทบูร แล้วจะจับกุมพระองค์

พระเจ้าตากเสด็จพร้อมพหลพลนิกายตามพระสงฆ์ไปถึงบ้านพลอยแหวน

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า...

"ฝ่ายพระยาจันทบูรก็ให้หลวงปลัดกับคนที่ชื่อ, ออกมานำทัพเป็นกลอุบาย, ให้กองทัพหลวงเลี้ยวไปทางใต้เมือง จะให้ข้ามน้ำไปอยู่ฟากตะวันออก จะคอยทำร้ายเมื่อพลทหารข้ามน้ำนั้น พระองค์ทรงทราบ จึงให้นายบุญมีมหาดเล็กขึ้นม้าควบไปห้ามทหารกองหน้ามิให้ไปตามทางหลวงปลัดนำนั้น ให้กลับมาตามทางขวาง ตรงเข้าประตูท่าช้าง เสด็จประทับ ณ วัดแก้ว ริมเมืองจันทบุรี จึงให้พลทหารตั้งล้อมพระวิหารวัดแก้ว แล้วเสด็จประทับอยู่ที่นั้น..."

พระยาจันทบูรให้กรมการเมืองออกมาเชิญเสด็จ แต่พระเจ้าตากปฏิเสธ มีพระมหากรุณาตรัสให้ไปบอกว่า พระยาจันทบูรควรออกมาอ่อนน้อม แล้วส่งตัวขุนรามหมื่นส้องผู้เป็นปัจจามิตรคืนมา จึงจะเข้าไปในเมือง

พระยาจันทบูรมิได้ทำตามรับสั่ง ซ้ำมิหนำยังมีพิรุธหลอกล่อหลายครั้ง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า...

"จึงตรัสว่าพระยาจันทบูรมิได้ตั้งอยู่ในสัตยภาพแล้ว และเห็นว่าขุนรามหมื่นส้องจะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตกแต่งการไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาให้จงได้ แล้วจึงตรัสสั่งโยธาหาญทั้งปวงให้หุงอาหารรับพระราชทานแล้ว เหลือนั้นสั่งให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด"

ราวตีสามคืนนั้น พระเจ้าตากเสด็จทรงช้างพระที่นั่งเข้าทลายประตูใหญ่ พร้อมทแกล้วทหารไทยจีนบุกเข้าเมืองได้ทุกด้าน

พระยาจันทบูรก็พาบุตรภรรยาหนีลงเรือไปสู่ปากน้ำพุทไธมาศ

ฐานะของชลบุรีกับจันทบูร

เมืองชลบุรีกับเมืองจันทบูรสมัยนั้นมีฐานะอย่างไรแน่? อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า

นอกจากเมืองชลบุรีหรือบางปลาสร้อย เมืองจันทบูรก็เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง เกินกว่าที่กำลังของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยึดได้ง่ายๆ

พระองค์เสด็จออกจากอยุธยาได้ ๑๗ วันก็มาถึงพัทยา อีก ๓ วันต่อมาก็เสด็จไปถึงสัตหีบ และพระระยองก็ได้มาเชิญเสด็จเข้าระยองในเวลาต่อมา

หมายความว่ารวมเวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถได้เมืองระยองไว้ในพระราชอำนาจ แต่จำเป็นที่พระองค์ต้องรอเวลาอีกกว่า ๔ เดือนจึงจะสามารถยึดจันทบูรได้

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ในระยะแรก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพยายามใช้การเจรจากับผู้นำเมืองจันทบูร เพื่อให้ได้รับความร่วมมือแทนที่จะใช้กำลัง และทรงปล่อยให้การเจรจายืดเยื้ออยู่เป็นเวลานาน

บางปลาสร้อยกับจันทบูร มีร่องรอยและพยานหลักฐานชัดเจนว่า ผู้นำไม่ได้เป็นเจ้าเมืองเก่าที่อยุธยาตั้งขึ้น หากเป็นคนที่ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ในท้องถิ่นเอง โดยอาศัยความวุ่นวายปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน และความอ่อนแอของรัฐบาลกลางที่ถูกข้าศึกล้อมไว้

ตีเมืองตราด

เมื่อได้เมืองจันทบูรแล้ว พระเจ้าตากให้ยกทัพทั้งทางบกและทะเลไปถึงบ้านทุ่งใหญ่ เมืองตราด อันเป็นที่ชุมนุมพ่อค้าวาณิชนายสำเภาทั้งปวง

ฝ่ายจีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวสำเภาทั้งปวงยอมสวามิภักดิ์ จึงพาธิดามาถวายพระเจ้าตาก

ต่อเรือรบ

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีจดว่า เมื่อได้เมืองตราดแล้วพระเจ้าตากเสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองจันทบูร "ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ ๑๐๐ ลำเศษ"

บริเวณปากแม่น้ำจันทบูรมีซากเรือจมอยู่ริมตลิ่ง เชื่อกันว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นอู่ต่อเรือรบหรือซ่อมเรือของพระเจ้าตาก เตรียมที่จะยกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาคืนให้จงได้

นโยบายทางการเมืองของพระเจ้าตาก

การที่พระเจ้าตากประสบความสำเร็จได้หัวเมืองชายทะเลตะวันออกไว้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ก็เพราะกลุ่มของพระเจ้าตาก หรืออย่างน้อยตัวพระเจ้าตากเอง มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเด่นชัดว่าจะรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ และประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่เริ่มออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยา

แต่กลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เพียงแต่รวมตัวกันเพื่อป้องกันตนเองหรือปล้นสะดมผู้อื่น หรือถ้าจะมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองก็เพียงรักษาหัวเมืองหรือท้องถิ่นของตนให้ปลอดภัย อาจถึงขนาดตั้งตนเป็นใหญ่คือตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจนจนเปิดเผยว่าจะรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่

ประเด็นนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า พระยาตากประกาศนโยบายทางการเมืองนี้ ตั้งแต่เริ่มออกจากพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ประกาศด้วย "ภาษาทางการเมือง" ที่เข้าใจได้ในยุคนั้น นั่นก็คือประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทย

การประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์ ทำให้กองกำลังของพระยาตากกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ติดอาวุธไปทันที ไม่ใช่เป็นแต่เพียงกลุ่มโจรผู้ร้ายซึ่งคงมีอยู่ชุกชุมทั่วไปในขณะนั้น กลุ่มของพระยาตากจึงแตกต่างจากกลุ่มโจรอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ทั่วไปในภาคกลางขณะนั้นในด้านนโยบายการเมือง แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่สู้จะแตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะต้องอาศัยการปล้นสะดมเพื่อสั่งสมกำลังและเสบียงอาหารอยู่นั่นเอง แต่กลุ่มพระยาตากมีความแตกต่าง ตรงที่เมื่อปล้นได้ทรัพย์สินเงินทองและเสบียงอาหารแล้วก็เดินทัพต่อไป เพราะมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ใหญ่กว่าการเกาะกลุ่มกันเพื่อเอาชีวิตรอด

แต่กองโจรอื่นๆ ปล้นแล้วก็วนเวียนอยู่ถิ่นเดิมที่คุ้นเคยและปลอดภัย เพื่อจะปล้นอีกเมื่อขาดแคลน เพราะมีจุดหมายการปล้นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ใช่อย่างอื่น

การประกาศเช่นนี้ทำให้กลุ่มของพระองค์อาจได้รับความร่วมมือหรือการถวายตัวของขุนนางอย่างน้อยก็ระดับชั้นผู้น้อยบ้าง เช่น ขุนชำนาญไพรสณฑ์ พระเชียงเงิน ส่วนขุนนางชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปกว่าหัวหมื่นพันทนายบ้านเล็กๆ เหล่านี้ คงยังมิได้ตัดสินใจจะเข้าสวามิภักดิ์จนกระทั่งเมื่อได้ระยองแล้ว และกลุ่มของพระยาตากกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีกำลังและอนาคตอยู่บ้างแล้วเท่านั้น

นโยบายประกาศตนเป็นกษัตริย์ เพื่อยืนยันถึงนโยบายรื้อฟื้นพระราชอาณาจักรอยุธยานั้น ย่อมมีเสน่ห์แก่ขุนนางและเชื้อสายขุนนางในส่วนกลางเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าปูมหลังของพระยาตากอาจเป็นที่เหยียดหยามของเหล่าตระกูลขุนนางอยุธยา และในระยะแรกกลุ่มของพระยาตากก็ยังไม่มีความสำเร็จที่เห็นได้ชัด ว่าจะสามารถทำได้ตามนโยบาย

นอกจากนี้ ก่อนกรุงแตกพระยาตากคือกบฏ ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจแก่ขุนนางชั้นสูงเป็นธรรมดา

กิตติศัพท์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ในฐานะผู้มีนโยบายจะรื้อฟื้นกรุงศรีอยุธยา ระบือออกไปกว้างขวางยิ่งเมื่อได้ทรงตั้งมั่นในเมืองระยองแล้ว

เมื่อหลังเสียกรุงแล้ว โอกาสของการรักษาพระราชอาณาจักรก็ยิ่งริบหรี่ลง ชุมนุมของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก จึงเป็นความหวังเดียวของขุนนางส่วนกลาง เพราะหัวหน้าชุมนุมนี้ได้ประกาศนโยบายนี้อย่างชัดเจนมาแต่ต้น จึงไม่ประหลาดที่พวกเชื้อสายตระกูลขุนนางส่วนกลางจำนวนหนึ่งพากันเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระองค์กันมากขึ้น

กิตติศัพท์การ "กู้กรุงศรีอยุธยา" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ย่อมล่วงรู้อย่างดีถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่บ้านบางช้าง (อัมพวา) เมืองราชบุรี จึงได้แนะนำนายบุญมาซึ่งเป็นพระราชอนุชาให้เข้าถวายตัวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะมีผู้นับถือมาก การกู้กรุงศรีอยุธยาก็มีทางจะสำเร็จได้

มีหลักฐานการตั้งตนเป็นกษัตริย์ของชุมนุมกลุ่มอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ล้วนทำขึ้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแล้ว และไม่มีกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงเหลืออยู่เป็นประธานของราชอาณาจักรอีก การตั้งตนเป็นกษัตริย์จึงหมายถึงการแยกตัวออกจากราชอาณาจักร ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีชุมนุมใดเดือดร้อนใจที่จะยกกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาจากชุมนุมของนายทองสุก สุกี้เชื้อมอญที่พม่าตั้งไว้

การตั้งตนเป็นกษัตริย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีเนื้อหาที่แตกต่างจากชุมนุมอื่น และเป็นที่เข้าใจได้พอสมควรในท้องที่ภาคกลางและภาคตะวันออก

ยกทัพเรือเข้ากรุง

เมื่อถึงเวลาพร้อมแล้ว พระเจ้าตากจึงทรงพระราชอุตสาหะ ยกพลทหารพร้อมสรรพด้วยเครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก ออกมาจากเมืองจันทบุรีมาโดยทางทะเล

ฆ่าเจ้าเมืองชลบุรี

พระเจ้าตากทรงทราบว่า พระยาอนุราชเมืองชลบุรีกับพรรคพวกมิได้ละพยศอันร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกตีชิงสำเภาและเรือลูกค้าวาณิชอีก จึงให้หยุดทัพเรือประทับที่เมืองชลบุรี แล้วให้หาพระยาอนุราชลงมาเฝ้า ณ เรือพระที่นั่ง มีพระราชบริหารให้พิพากษาโทษประหารชีวิตเสีย พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพรรณนาว่า...

"พระยาอนุราชคงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะด้วยสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลก็ถึงแก่กรรม"

ยึดค่ายโพธิ์สามต้น

พระเจ้าตากยกทัพเรือเข้าปากน้ำเมืองสมุทรปราการ แล้วให้เร่งเข้าตีเมืองธนบุรี

ฝ่ายกรมการพวกที่อยู่รักษาเมืองธนบุรีหนีขึ้นไปโพธิ์สามต้นกรุงเก่า แจ้งเหตุแก่สุกี้ผู้เป็นพระนายกอง พระนายกองก็ให้จัดพลทหารพม่า มอญ ไทย เป็นทัพเรือตั้งสกัดอยู่เพนียด แต่แล้วก็แตกหนีไป

พระเจ้าตากยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเข้าควบคุมค่ายไว้ได้

นี่เท่ากับประสบความสำเร็จในการยึดกรุงศรีอยุธยาคืน

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พรรณนาว่า... "แล้วจึงให้เชิญเสด็จพระบรมศพพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์แห่แหนมา ณ โพธิ์สามต้น ถวายพระเพลิง..."

เมืองธนบุรี

เมื่อตีค่ายโพธิ์สามต้นได้ก็เท่ากับยึดราชอาณาจักรศรีอยุธยาสำเร็จ แต่แทนที่พระเจ้าตากจะประทับอยู่อยุธยา พระองค์กลับเสด็จลงไปประทับอยู่เมืองธนบุรี

ทำไมพระเจ้าตากเสด็จลงไปประทับอยู่เมืองธนบุรี?

คำถามนี้มีคำอธิบายหลายอย่าง แต่คำอธิบายที่น่าเชื่อถือมีว่า

"มีรายงานบางฉบับว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ถึงกับชนะที่ค่ายโพธิ์สามต้นอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนั้นกองทัพของพระองค์ยังไม่สู้ใหญ่นัก การจะเอาชนะชุมนุมมอญที่โพธิ์สามต้นอย่างเด็ดขาด น่าจะเป็นเรื่องยากและต้องเสียรี้พลสูง เพราะชุมนุมนี้ได้ตั้งมาก่อนกรุงแตกแล้ว เนื่องจากเป็นที่ตั้งทัพใหญ่ของพม่า อีกทั้งได้อาญาสิทธิ์จากผู้พิชิตอีกด้วย ก็คงสามารถเก็บรวบรวมผู้คนหรือแม้แต่ขุนนางเก่าไว้ได้ไม่น้อย..."

"และเพราะไม่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในท้องที่แถบอยุธยานี้เอง ที่ทำให้ตัดสินพระทัยในอันที่จะเสด็จมาอยู่ ณ เมืองธนบุรีแทน"

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเขียนในสมัยกรุงธนบุรี กล่าวถึงการเสด็จมาประทับที่เมืองธนบุรีแต่เพียงว่า เมื่อตีค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้ว "จึงให้รับบุราณขัตติยวงศาซึ่งได้ความลำบากกับทั้งพระบรมวงศ์ลงมาทะนุบำรุงไว้ ณ เมืองธนบุรี"

ข้อความทั้งเล่มในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ไม่มีตอนใดบอกว่าพระเจ้าตาก "ย้ายราชธานี" ลงมาอยู่เมืองธนบุรี

พระเจ้าตากต้องการสร้างเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานีหรือเปล่า? เรื่องนี้มีคำอธิบายน่าสนใจว่า

"อาจกล่าวได้ว่าตลอดรัชกาลไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ทรงมีพระราชดำริในการยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีถาวรเลย... ด้วยเหตุฉะนั้นจึงยากที่จะตัดสินได้แน่ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริในการสร้างเมืองธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่อย่างจริงจังหรือไม่"



คัดตัดตอนมาปรับปรุงใหม่ จากบทภาพยนตร์สารคดีชุดสามกรุงศรี ตอนกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อ ๒๕๔๐

.
.
.

No comments:

Post a Comment