Thursday, January 24, 2013

แผนล้มกรุงธนบุรี ยึดราชบัลลังค์พระเจ้าตากสิน


แผนล้มกรุงธนบุรี ยึดราชบัลลังค์พระเจ้าตากสิน

(วิภา จิรภาไพศาล มติชนฉบับวันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2550)

เหตุการณ์การสิ้นสุดของราชธานีแห่งแรกของลุ่มเจ้าพระยาอย่าง "กรุงธนบุรี" การรับรู้ทั่วไปที่ผ่านมาเกี่ยวกับการสิ้นสุดของกรุงธนบุรีและพระเจ้ากรุงธนบุรีพอสรุปได้ดังนี้

ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ.2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ เพื่อสืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2325 พระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา

คำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ และยังเป็นความลับของสังคมคือ พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินนั้นทรงเสียพระสติจริงหรือไม่? เพราะนั่นเป็นประเด็นสำคัญในคำกล่าวโทษพระองค์ และนำไปสู่การสำเร็จโทษพระองค์ ใครเป็นผู้วางแผนยึดและใครเป็นผู้ยึดกรุงธนบุรี? ฯลฯ

ทุกอย่างเป็นความลับมากว่า 200 ปี ถ้าเชื่อว่าความลับมีในโลก เพราะบุคคลผู้อยู่ในเหตุการณ์ล้วนเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าเชื่อว่าความลับไม่มีในโลกแล้ว แม้ไม่มีพยานบุคคล ก็ยังมีพยานหลักฐานข้างเคียง และด้วยกระบวนการทางกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ หลายครั้งความลับนั้นก็เปิดเผย ซึ่งนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนเมษายน 2550 ปรามินทร์ เครือทอง เลือกใช้หลักฐานการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คลี่คลายเรื่องนี้ของกรุงธนบุรี ในอีกแง่มุมที่แตกต่างออกไป

"ต้นเรื่องของแผนยึดกรุงธนบุรีกำเนิดที่กรุงกัมพูชา เกิดเหตุรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นน) กษัตริย์กัมพูชา ซึ่งพระเจ้าตากได้ทรงตั้งไว้เมื่อสงครามคราวก่อน หัวหน้าผู้ก่อการคือเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับสมเด็จพระรามราชาสำเร็จโทษในเดือน 10 พ.ศ.2322 ต่อมาก็ถวายราชสมบัติให้นักองค์เอง ราชบุตรของนักองค์ตน ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่มาก เจ้าฟ้าทะละหะจึงเป็นผู้สำเร็จราชการว่าที่เจ้าฟ้ามหาอุปราช...

กัมพูชาขณะนั้นยังอยู่ในอำนาจของกรุงธนบุรี แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ฝ่ายกรุงธนบุรีเองก็ไม่ไว้วางใจอีกต่อไป เพราะเจ้าฟ้าทะละหะนั้นมีใจฝักใฝ่ข้างญวน เช่นเดียวกับนักองค์เอง ถ้าเติบใหญ่ขึ้นก็จะฝักใฝ่ญวนเหมือนกับนักองค์ตนพระราชบิดา ทำให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของกรุงธนบุรีได้ นี่คือสาเหตุที่กรุงธนบุรีต้องยกทัพใหญ่ไปปราบกัมพูชา และเป็นตัวแปรสำคัญต่อการยึดกรุงธนบุรีและทำรัฐประหารพระเจ้าตากในเวลาต่อมา..." หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าทรงเสียพระสติ ก็มีข้อมูลนำเสนอน่าสนใจ ทั้งในเรื่องดังกล่าว และการข่าวภายในราชสำนักกรุงธนบุรีของเจ้าพระยาจักรีว่า

"ความทรงจำในเรื่องนี้ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่คลาดเคลื่อนแน่ การที่เจ้าพระยาจักรีรู้ข่าว "วิปริต" ในกรุงธนบุรี ตั้งแต่เดือน 11 หรือเดือน 12 ปีชวด ซึ่งจะหมายถึงเจ้าพระยาจักรีรับข่าวนี้ตั้งแต่อยู่นครราชสีมา "ก่อน" ที่จะเดินทัพไปกัมพูชา 2-3 เดือน...

อันที่จริงข่าว "วิปริต" นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นระยะบ้างแล้ว จดหมายเหตุโหรกล่าวถึงพระเจ้าตากทรงขัดแย้งกับคณะสงฆ์...มีเหตุเรื่อง พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบันได้หรือไม่ ข้อหลังนี้เป็นข้อหาหนักถึงขั้นกล่าวว่าพระเจ้าตากทรงมี "พระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส"

ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งกับคณะสงฆ์เท่านั้น ข้างฝ่ายราษฎรก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องพระเจ้าแผ่นดินทรงพิพากษากลับเอาจริงเป็นเท็จ ทั้งเรื่องเร่งรัดเอาทรัพย์เป็นของหลวง ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรีจะเกิดขึ้นเพราะใครหรือเพราะอะไร นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีจะเดินทัพสู่กัมพูชาทั้งสิ้น

จึงประมาณการได้ว่า พระยาสุริยอภัย (หลานพระยาจักรี) ได้ตระเตรียมไพร่พลไทย-ลาว อาจจะตั้งแต่ปลายปีชวด ไม่เกินต้นปีฉลู เตรียม "ยกรบ" ควบคุมความไม่สงบในกรุงธนบุรีอยู่แล้ว ตามคำสั่งเจ้าพระยาจักรี และที่สำคัญที่สุดคือ มีการเตรียมทัพยึดกรุงธนบุรีก่อนที่ "กบฏพระยาสรรค์" ความไม่สงบตัวจริงจะเกิดขึ้นเสียอีก!..." พระราชดำรัสสุดท้าย (ของพระเจ้ากรุงธนบุรี) ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีไว้ให้ชวนคิดดังนี้

"กูวิตกแต่ศัตรูมาแต่ประเทศเมืองไกล แต่เดี๋ยวนี้ไซ้ลูกหลานของกูเอง ว่ากูคิดผิดเป็นบ้าเป็นบอแล้วดังนี้ จะให้พ่อบวชก็ดี ฤาจะใส่ตรวนพ่อก็ดี พ่อจะยอมรับทำตามใจลูกบังคับทั้งสิ้น"

พระราชดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า ทรงรู้อยู่ตลอดเวลาที่ถูกหาว่า "บ้า" สุดท้ายพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสียกรุงให้กับขุนนางในแผ่นดินของพระองค์เองถึง 2 ครั้งด้วยกัน

โดยการเสียกรุงครั้งที่ 1 ให้แก่กำลังพลของพระยาสรรค์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2324 และเสียต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้แก่ทัพของเจ้าพระยาจักรีในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2325 (นับอย่างปฏิทินเก่าเดือนเมษายนนับเป็นขึ้นปีพุทธศักราชใหม่) อันเป็นการปิดฉากของกรุงธนบุรี และพระเจ้ากรุงธนบุรีลงอย่างถาวร ภายในระยะเวลาเพียง 23 วันที่เจ้าพระยาจักรีมีชัยเหนือพระยาสรรค์ที่เข้ายึดกรุงธนบุรีก่อนหน้า คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเป็นการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี

เจ้าพระยาจักรีสานสัมพันธไมตรีกับทัพญวนอย่างไร ไม่ให้มีการตีตลบหลังในระหว่างเข้ายึดกรุงธนบุรี ท่านปิดกั้นทัพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ให้เป็นกำลังหนุนของกรุงธนบุรีอย่างไร การข่าวที่สายส่งรายงานเหตุการณ์ในพระนครไปยังทัพของท่านที่เสียมราฐ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นความลับที่ปิดตายไปพร้อมกับชีวิตบุคคลปิดลงอีกต่อไป เมื่อข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเปิดเผย ความลับย่อมไม่เป็นความลับอีกต่อ

ทำไมรัชกาลที่ 1 สั่ง"เผาศพ" พระเจ้าตาก ในปี พ.ศ.2327 ?




โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com มติชน 7 ส.ค.2555
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินหน้าพระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม ธนบุรี
บรรดาพระมหากษัตริย์ของสยามเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระเจ้าตาก" มีการกล่าวถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่ง 
ใครจะคิดว่ากษัตริย์ที่ถูกรัฐประหาร ต้องโทษจนสิ้นพระชนม์ ราชธานีกรุงธนบุรี และพระราชวงศ์ที่มีอายุแค่ 14-15 ปี ไม่ได้มีเวลาสร้างรากฐานมั่นคง ยิ่งใหญ่ หรือเป็นที่ยำเกรงเท่าใดนัก จะเป็นที่สนใจของผู้คนและสังคมมากกว่า 200 ปี

นั่นเพราะอีกมุมหนึ่ง พระองค์คือกษัตริย์ผู้กอบกู้อิสรภาพของสยามจากพม่า

ปรามินทร์ เครือทอง ค้นหามาเล่าสู่กันฟังในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนสิงหาคม ในบทความที่ชื่อว่า "สงสัย รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ก่อนขุดหีบศพพระเจ้าตากมาเผา?"

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการสำเร็จโทษพระเจ้าตากโดยตัดพระเศียร ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วนำพระบรมศพไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

หลังจากนั้น 2 ปี (พ.ศ.2327) พระองค์มีพระราชดำรัสให้ "ขุดศพ" พระเจ้าตากขึ้นมาเผา อะไรคือเหตุผลในครั้งนั้น ปรามินทร์สงสัยและตั้งคำถามได้น่าสนใจ

1.เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณีหรือ?  

วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษและฝังพระศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ที่ผ่านมาการปราบดาภิเษกในอดีตของสยามประเทศมีมาหลายต่อหลายครั้ง อดีตกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ด้วยการสำเร็จโทษหลายพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เกือบทั้งหมดน่าจะยังคงฝังอยู่ที่ "วัดโคกพระยา" เท่าที่มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารไม่เคยมีการขุดพระบรมศพขึ้นมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิง

หากยึดตามโบราณราชประเพณี จึงน่าสรุปได้ว่า "ไม่ขุด ไม่เผา ไม่ผิด"

2.เมื่อไม่มีพระราชประเพณีกำหนดไว้ก็ต้องถามว่า เช่นนั้นวัตถุประสงค์ในการนี้จึงมีคำตอบอยู่ระหว่าง "การเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "การทอนพระเกียรติ"
ซึ่งข้อมูลที่ผู้เขียน (ปรามินทร์) อ้างอิงจากการค้นคว้าพระราชพงศาวดารต่างๆ ดังนี้

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน บันทึกว่า "ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครฯ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ดำรัศให้ขุดหีบศพเจ้ากรุงธนบุรี ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือไต้ ให้มีการมโหรศพ แลพระราชทานพระสงฆบังสกุล เสดจพระราชดำเนิรไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์"

ส่วนพระราชพงศาวดารอื่นๆ บันทึกตรงกันว่าให้ "ขุดหีบศพ" ขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้

พระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 "ตำนานวัด" เล่าว่าเป็นจุดที่ฝังพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสิน



พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย มีข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานพระบรมศพพระเจ้าตากคือ "ดำรัสให้ขุดศพเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นทำการฌาปนกิจ ที่เมรุวัดบางยี่เรือใต้"

จากคำที่ใช้ไม่ว่า หีบศพ, บังสุกุล, ขุดศพ, ฌาปนกิจ แสดงให้เห็นว่าไม่มีการพระราชทานพระโกศอย่างศพเจ้า ไม่มีการใช้ราชาศัพท์

งานที่จัดเป็นเพียง "การเผาศพ" มากกว่า "การส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย"
3.นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง "เงื่อนเวลา" เหตุใดต้องรอเวลาถึง 2 ปี จึงค่อยจัดงาน ปรามินทร์ตั้งสมมติฐานไว้ว่า
หนึ่ง คือหลังวันประหารพระเจ้าตาก 6 เมษายน ปี พ.ศ.2325 ทั้งปีเป็นช่วงเวลาการกวาดล้างบารมี, แบบแผน ฯลฯ ของกลุ่มการเมืองเก่าให้หมดจด หลังจากนั้น ยังต้องสถาปนาราชวงศ์ใหม่, แต่งตั้งขุนนาง, สร้างราชธานีใหม่, กำหนดระเบียบบ้านเมือง ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มการเมืองเก่าหมดทางฟื้นคืน

ก่อนระยะเวลา 2 ปี จึงเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุสนับสนุนดังนี้

หนึ่งคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นแก่เจ้าฟ้าเหม็นหลานตาอันเป็นที่รัก พระราชโอรสของพระเจ้าตากกับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ (พระราชธิดาของรัชกาลที่ 1) ในวัย 5 พรรษาเริ่มรู้ความ และช่างซักถาม แต่ก็จัดงานศพให้แบบสามัญชนเท่านั้น

หนึ่งเพราะต้องการปิดฉาก "อดีต" ของกรุงธนบุรีให้หมดจด เพื่อการเริ่มต้นเมืองใหม่ที่ดี โดยพิจารณาได้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ภายหลังงานฌาปนกิจพระเจ้าตากดังนี้

หลังจากการ "ฌาปนกิจ" พระบรมศพพระเจ้าตากในปี พ.ศ.2327 แล้ว ยังมีการยกยอดพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตามมาด้วยการอัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามฟากมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง

ปี พ.ศ.2328 เมื่อการสร้างพระนครและพระราชวังใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกใหม่ เป็นอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี, งานฉลองสมโภชพระนครและพระราชทานนามใหม่ว่า "กรุงเทพมหานครฯ"

ประเด็นข้างต้นนั้นเป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ที่ต้องการชวนให้ท่านผู้อ่านช่วยกันตั้งคำถาม หาคำตอบจากประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่สามารถโต้แย้ง ถกเถียงได้ 


ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน

228 ปีตากสินมหาราช:กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
6 เมษายน 2553

แม้ทหารที่จงรักภักดีกับพระเจ้าตากสิน จะพร้อมพลีชีพเพื่อพระองค์ แต่ก็มีพระราชดำรัสว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” พระองค์ถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 หรือวันนี้เมื่อ 228 ปีที่แล้ว พร้อมกับเชื้อพระวงศ์และขุนนางกว่า 150 คน รวมถึง พระยาพิชัยดาบหักด้วย

อย่างไรก็ตามทางราชการได้ถือว่าวันพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม อันเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน จากปกติมักถือธรรมเนียมเอาวันสวรรคตเป็นวันรำลึกถึงมหาวีรกษัตริย์ แต่เนื่องจากวันสวรรคตของพระองค์ท่านตรงกับวันที่ 6เมษายน ได้ถือเป็นวันจักรีแล้ว ประวัติศาสตร์จึงต้องได้กำหนดวันพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีแทน อันแผกจากธรรมเนียม

ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการเทิดทูน และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนอีก

ระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อกับการเมืองที่เป็นจริงกรณีพระเจ้าตากvsรัชกาลที่1

เรื่องหนึ่งที่กลายเป็นblack propagandaที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งพระราชจักรีวงศ์นั้นไม่ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและประหารชีวิตพระเจ้า ตากสินมหารา​ชแต่ประการใด แต่เป็นข้อตกลงลับของพระเจ้าตากสินกับพระพุทธยอดฟ้าที่จะให้พระเจ้าตากสินลง จากบัลลั​งก์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ไทยไม่มีเงินไปชำระหนี้จีนในช่วงยืมเงินมา กู้ชาติ หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 จากนั้นพระเจ้าตากได้แอบหนีไปบวช และมีชีวิตต่อมาในเพศภิกษุที่นครศรีธรรมราช

การโหมโฆษณาชวนเชื่อนี้ทำให้คนไทยชั้นหลังๆจำนวนมากเชื่อตามไปเช่นนั้นจริงๆ แต่หากจะตั้งข้อสงสัยซักเล็กน้อยว่า ในหน้าประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทยนั้นไม่เคยมีครั้งใดที่เคยเกิดเหตุการณ์ เช่นนี้เล​ย และประการสำคัญก็คือพระเจ้าตากสินนั้นมีรัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์อยู่ แล้ว...ด้วยเหตุใดเล่า จึงจะไปยกราชสมบัติให้กับ"ท่านอื่น"

ความจริงนั้นปรากฎเป็นหลักฐานเอกสารชั้นต้นว่า พระเจ้าตากสินถูกยึดอำนาจ ถูกประหารชีวิต รัชทายาทและขุนนางใกล้ชิด รวมทั้งพระกุมารเล็กๆก็ถูกสังหารเกือบเรียบ ยกเว้นพระราชโอรสที่บังเอิญเกิดกับสนมที่เป็นลูกของรัชกาลที่1 หรือมีศักดิ์เป็นหลานรัชกาลที่1ของราชวงศ์จักรีที่รอดมาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อรัชกาลที่1สวรรคตเพียง7วัน รัชทายาทคนสุดท้ายเชื้อสายของพระเจ้าตากก็ถูกสังหาร เพื่อขจัดเสี้ยนหนามไม่ให้เหลือซาก

หากมองด้วยสายตาของคนในยุคนั้น การปราบดาภิเษกดังกล่าว นักวิชาการเห็นว่าเป็นธรรมเนียมโบราณราชประเพณีโดยปกติ หาใช่การทรยศหักหลังแต่ประการใด ดังที่เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้เรื่อยมาในหน้าประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทย

วาระสุดท้ายของมหาราชชาตินักรบ?

ดังที่ทราบกันดีว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้ว พระเจ้าตากสินที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน(ซึ่งเป็นที่ดูถูกของคนไทยสมัยนั้น แม้กระทั่งเวลาต่อมาอีกนับร้อยๆปี) ก็นำทัพกอบกู้เอกราชให้แก่ไทย แล้วสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีใหม่

ทรงรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นแล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2311 พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 เมษยา 2325 แม้จะมีคำบอกเล่าเชิงตำนานไว้บางสำนวนว่า พระองค์ได้หลีกทางให้พระยาจักรี สถาปนาราชวงศ์ใหม่ด้วยเหตุผลบางประการ และพระองค์ได้ดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบในสมณเพศสืบมา

แต่นั่นก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์กระซิบ การนั่งทางใน หรือการนิมิต ทว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ชี้ว่าพระองค์ถูกพระยาจักรี สั่งให้สำเร็จโทษเพื่อปราบดาภิเษกราชวงศ์ใหม่ และมีการกำจัดเสี้ยนหนามตามมาอีกหลายระลอก

กรณีของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นนับว่าประหลาดไปจากกรณีอื่นที่กล่าวมาแล้ว คือการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนสวรรคตลง แล้วเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติ และการถูกประหารชีวิตนั้นกรณีอื่นๆมีการจับสึกจากสมณเพศก่อน แต่ในกรณีพระเจ้าตากสินนั้นบางหลักฐานชี้ว่า อาจเป็นไปได้ว่าถูกสั่งสำเร็จโทษประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร ขณะที่ดำรงสมณเพศอยู่ก็เป็นได้

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในหนังสือ”การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุง​ธนบุรี" หน้า 575 ว่า*
" ( พระพุทธยอดฟ้าฯ) จึงมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุม ก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากสินจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายแล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ครั้น ( พระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทอดพระเนตร จึ่งโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมแลเพชฌฆาตก็ให้หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสีย ถึงแก่พิราลัย จึ่งรับสั่งให้เอาศพไปฝัง ณ วัดบางยี่เรือใต้"

ขณะที่ปรีดา ศรีชลาลัย กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินฯไว้ในบทความเรื่อง”ปีสุดท้ายของสมเด็จ พระเจ้าต​ากสินมหาราช”ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2524 ว่า”สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์ ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์ หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ)”

ปรีดานำเสนอว่า ปฐมเหตุนั้นมาจากการที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองของเวียดนาม เมื่อพวกกบฏไตเซินได้ก่อการรัฐประหารต่อพระเจ้าเวียดนามยาลอง พ่ายแพ้ถอยร่นลงมาทางใต้ แล้วหวังจะได้กำลังฝ่ายเขมรเข้ามาช่วยสู้รบ จึงเข้าไปแทรกแซงการเมืองเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย

พระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง)และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา ไปจัดการปราบ และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น โดยโปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู ตรงกับพ.ศ.2324

แทนที่จะจัดการปัญหาได้ตามแผน ปรีดาได้อ้างถึงพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล(เล่ม 2 หน้า 378)ว่า เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไป ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้าง แต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมีและจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้นไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแซง เพราะฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้องสู้รบกับพวกราชวงศ์เล้(กบฏไตเซิน) ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว

เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย พงศาวดารญวน เล่ม 2 หน้า 382 บันทึกไว้ว่านับเป็นโชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับ อยู่เหมือนก​ัน และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมายในการทำสัญญา ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน

ส่วนทางด้านกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และชักชวนทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี 3คน คือ นายบุนนาค, หลวงสุระ,หลวงชะนะ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรี ในเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที ยังมีพวกกบฏแอบแฝงซ่องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้นรับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า

ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวชเพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก 3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที

อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิดโดยการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระ เจ้าตากส​ินทรงมีพระสัญญาณวิปลาส คือเป็นบ้า หลงผิดว่าบรรลุโสดาบัน ทำการสั่งสอนพระสงฆ์ หากพระสงค์องค์ใดไม่ยินยอมก็ถูกจับเฆี่ยนตี(ซึ่งเป็นกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ที่สุดในเว​ลานั้น เป็นโทษฐานอนันตริยกรรมทีเดียว) ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไข เสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น

พระเจ้าตากสินฯซึ่งสิ้นไร้ทั้งกำลัง และถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าร้ายอย่างหนักหน่วงให้ขาดการสนับสนุนจากมวลชน ก็ได้ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออกทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว 3 เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม

พระเจ้าตากสินทรงผนวชแล้ว 12 วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต (ซึ่งถือเป็นพฤติการณ์กบฎในสมัยนั้น แม้กระทั่งสมัยนี้หากเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่มีคำสั่ง)

แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 3) พวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน)

กาลครั้งนั้นพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ 11 วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ เพราะกำลังน้อยกว่า ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน)จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว 3 วัน พอเช้าวันที่ 6 เมษายน 2325 เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก(ซึ่งส่วนมากก็ล้วน อยู่ในสา​ยของพระยาจักรีนั่นเอง) ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป

บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถ ของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติบริหารการแผ่นดินโดยด่วน หาไม่ก็ควรยกราชสมบัติให้รัชทายาทของพระองค์แทน เพราะมีรัชทายาทหลายพระองค์ ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด

ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า 150 นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น

ฝ่ายพระราชวงศ์ของพระเจ้าตากสินที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯถูกปลงพระชนม์แล้ว ก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น

ยังเหลือไว้แต่กรมขุนกษัตรานุชิต(เจ้าฟ้าเหม็น)ราชโอรสที่เกิดแต่ลูกสาวของ พระยาจักร​ีที่ไว้ชีวิต(แต่เมื่อรัชกาลที่1สวรรคตลง ก็มีการหาเหตุขจัดเสี้ยนหนามในที่สุด โดยอ้างว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะทำการกบฎ โดยมีหลักฐานคือกาได้คาบข่าวมาบอกว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะก่อกบฎ..)

ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวน ตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกพวกกบฎไตเซิน) 2 ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน

พงศาวดารจากการบันทึกความทรงจำของคนร่วมสมัยระบุด้วยว่า หลังจากประหารชีวิตพระเจ้าตากไปไม่นาน มีการขุดพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิง พระพุทธยอดฟ้าและกรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปทอดพระเนตร เห็นนางในน้อยใหญ่ร้องไห้รักอาลัยพระเจ้าตากก็ทรงกริ้ว สั่งเฆี่ยนนางในเหล่านั้น

อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เขียนถึงพระราชอุตสาหะและน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ใน บทความเร​ื่อง พระเจ้าตากสินมหาราช กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคกรุงธนบุรี ว่า คงเป็นเพราะการศึกสงครามที่ยังมีอยู่แทบตลอดรัชกาลนั่นเอง ซึ่งปัญหาความอดอยากนี้ นับว่าเป็นปัญหาหนักทีเดียว จนพระองค์ถึงกับเคยเอ่ยพระโอษฐ์ด้วยความทุกข์พระทัยว่า

“...บุคคลผู้ใด เป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำ ให้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ความกรุณาเป็นสัตย์ฉะนี้...”

จากพระราชปรารภข้างต้น คงจะทำให้เราได้เห็นน้ำพระทัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าทรงตั้งใจเสียสละเพื่อราษฎรเพียงใด ตลอดรัชกาล พระองค์ต้องคิดทั้งเรื่องการรบข้าศึกศัตรู คิดเรื่องการฟื้นฟูและทำนุบำรุงบ้านเมือง คิดถึงการแก้ปัญหาปากท้องราษฎร แต่ละเรื่องนับเป็นภาระที่หนักยิ่ง

หากมิใช่เพราะพระปรีชาสามารถ น้ำพระทัยที่ห้าวหาญ และความเสียสละของพระองค์ท่านแล้ว คงยากที่คนไทยเราจะมีวันนี้ได้

ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก

#กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท(วังหน้าพระยาเสือ)

ภายหลังเจ้าพระยาจักรีได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งพระราชจักรีวงศ์นั้น สมเด็จพระอนุชาในรัชกาลที่ 1 คือ กรมพระราชวังบวรฯ(บุญมา) เสด็จลงมาเฝ้าฯ กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสิน จะรับพระราชทานเอาไปใส่เรือล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า" (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, ๒๕๑๖, น. ๔๖๐)

อย่างไรก็ดีลูกของพระเจ้าตากสินองค์หนึ่งเหลือรอดมาได้ คือเจ้าฟ้าเหม็น เพราะเป็นหลานของรัชกาลที่ 1 ได้ขอยกเว้นชีวิตไว้ และโปรดสร้างวังท่าพระให้อยู่(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร)แต่พอ ต่อมาเมื​่อรัชกาลที่ 1 สวรรคตได้เพียง 7 วัน และผลัดแผ่นดินมาสู่รัชกาลที่ 2 พระราโชบายที่เคยมีมาแต่ต้นรัชกาลก็มาประสบผล

โดยคดีนี้พิลึกพิลั่นว่า อีกาได้คาบข่าวมาบอกว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะก่อการกบฎแย่งชิงราชบัลลังก์ ในที่สุดก็มีการตั้งตุลาการขึ้นชำระความ ซึ่งตุลาการสมัยโน้นก็คงอาการประมาณเดียวกับสมัยนี้หละกระมัง คือหาหลักฐานไม่พบ โดยมีความตอนหนึ่งว่าไว้ดังนี้
มีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ว่า อ้ายเมืองให้การถึงหม่อมเหม็น ทั้งนี้ยังเลื่อนลอยอยู่เห็นหาจริงไม่ แต่ทะว่าเป็นความแผ่นดิน จึงให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ตริตรองชำระเอาความจริง


ตุลาการศาลยุติธรรมในเวลานั้นตริตรองแล้วก็ชำระความออกมา ด้วยการที่เจ้าฟ้าเหม็นทรงถูกถอดยศเป็น "หม่อมเหม็น" นำไปสำเร็จโทษที่วัดปทุมคงคา ส่วนพระโอรส 6 พระองค์ของเจ้าฟ้าเหม็นก็ต้องโทษ "ตัดหวายอย่า่ไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก" คือ หม่อมเจ้าชายใหญ่ หม่อมเจ้าชายสุวรรณ หม่อมเจ้าชายหนูเผือก หม่อมเจ้าชายสวัสดิ์ หม่อมเจ้าชายเล็ก และ หม่อมเจ้าชายแดง ทรงถูกนำไป "ถ่วงน้ำ" ที่ปากอ่าว

ก็เป็นอันว่าพระราโชบายที่กำหนดไว้นับแต่ปราบดาภิเษกสถาปนาพระราชจักรีวงศ์ ก็มาบรรลุผลในตอนหลังรัชกาลที่ 1 สวรรคตลงเพียง 7 วันนั่นแล

แม้จะสิ้นวงศ์ไปแล้ว และแม้เหตุการณ์ผ่านไปนานถึง 228 ปี แต่กฤษฎาภินิหารของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นก็บดบังมิได้..

ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จาก นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔



๑. การเริ่มต้นชีวิตเพื่อความแจ่มใสและการใช้ชีวิตให้เป็นคุณแก่ชาติทุกวิถีทาง และทุกโอกาสที่สมควร จนกล่าวได้ว่าเป็นการ ดำรงชีพเพื่อชาติ จริงๆเช่นนี้ ก็น่าจะได้รับยกย่องเป็นลักษณะพิเศษ เป็นคติชีวิตที่คนตั้งใจรักชาติทุกคนจะต้องสนใจให้มากที่สุด.

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กู้ชาติไทยให้พ้นจากความเป็นทาส เป็นยอดนักรบไทย มีพระชนม์ชีพต้องด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าวมานั้น พระองค์จึงสามารถกู้ชาติไทยได้ กู้แล้วยังทรงบากบั่นสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติไทยอีกอเนกอนันต์ เวลา ๑๔ ปีก่อนถึงปีสุดท้าย พระองค์มีชีวิตอยู่กับบูรณภาพแห่งชาติไทยเสมอมา. ชีวิตของพระองค์จึงแน่วแน่อยู่กับการสร้างชาติไทย ไม่ใช่ชีวิตทำลายชาติไทย

เมื่อระยะกาลตลอด ๑๔ ปี เต็มไปด้วยการสร้างชาติ ปีที่ ๑๕ จึงไม่มีปัญหาที่ผู้กตัญญูจะชวนคิดไปทางอื่น แม้ว่าปีที่ ๑๕ จะเป็นปีสุดท้ายของพระองค์ ก็เป็นปีที่เปี่ยมไปด้วยพระคุณ ซึ่งชาติไทยยังระลึกอยู่เสมอ จะไม่มีผู้ใดบังอาจกำจัดความกตัญญูของชาติไทยในข้อนี้ได้.

ปีสุดท้ายของพระองค์ คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พอรุ่งขึ้นปีขาลเพียง ๖ วัน ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ก็ต้องเสด็จสวรรคต เพียบพร้อมด้วยความรักชาติไทยอย่างสูงสุด ทรงรักโดยหวังสันติอันยอดเยี่ยมแก่ประชากร เป็นการแสดงพระคุณอันสุดซึ้งครั้งสุดท้าย จนสุดที่จะพรรณาพระคุณให้ครบถ้วนได้.

เป็นที่น่ายินดีว่า พระราชกิจจานุกิจของพระองค์ในปีสุดท้าย ซึ่งมืดมัวอยู่ภายใต้ละลอกแห่งบทความอันกลบเกลื่อน เป็นเวลาช้านานนั้น ได้กระจ่างขึ้น โดยผลแห่งการสอบสวนค้นคว้า จนเป็นที่เข้าใจแจ้งชัดว่า ความสำคัญแห่งชาติไทย ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ ย่อมขึ้นอยู่ที่พระราชกิจจานุกิจของพระองค์ทุกส่วน เรามองเห็นพระราชกิจจานุกิจเพียงพอ เราก็เข้าใจในความสำคัญแห่งชาติไทยได้ดี เพราะฉะนั้น ความสำคัญแห่งชาติไทยกับพระราชกิจจานุกิจ จึงแยกจากกันไม่ได้.

ถ้าจะมองในด้านความดี พระราชกิจจานุกิจก็คือพระเดชพระคุณ ซึ่งมีอยู่แก่ชาติไทย แม้จนทุกวันนี้บรรดาชาวไทย ที่รักชาติและทราบพระราชประวัติของพระองค์ถูกต้อง ยังรำลึกถึงพระเดชพระคุณของพระองค์ไม่มีใครยอมลืม ทุกคนรู้สึกว่าสายสกุลของตนๆเป็นหนี้บุญคุณพระองค์ท่านมากมาย เพราะยอดเกียรติยศ แห่งชีวิต ก็คือความเป็นอิสระพ้นจากความเป็นทาส พระองค์ประทานยอดเกียรติยศให้แก่ชาวไทย โดยช่วยให้พ้นจากความเป็นทาสพม่า และช่วยให้ดำรงชาติเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณของพระองค์ จึงฝังแน่นในจิตใจของชาติไทย นับวันก็ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น พระเดชพระคุณยังปรากฎอยู่ตราบใด ก็เป็นที่รับรอง พระราชกิจจานุกิจของพระองค์อยู่ตราบนั้น พระราชกิจจานุกิจนี้ก็มิใช่อื่น คือความสำคัญแห่งชาติไทยดังกล่าวแล้ว ชาติไทยกับพระองค์จึงไม่มีทางแยกจากกันได้ ใครบังอาจเหยียบย่ำพระเกียรติยศของพระองค์ก็เท่ากับ ดูถูกชาติไทยอย่างหนัก ผู้ประพฤติเยี่ยงนี้ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องถูกประณามว่า เป็นคนเนรคุณชาติที่สุด เป็นคนที่ชาติไม่พึงปรารถนาเลย.

๒. ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ เป็นปีที่เริ่มต้นด้วยความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นครั้งใหญ่ และครั้งนี้จะเป็นทางนำไปสู่การสร้างมิตรภาพระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอีกด้วย ในเมื่อไม่มีเหตุร้ายมาตัดรอนเสีย.

ความจริงไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน เคยมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ บางคราวก็ไปมาติดต่อกันเสมอ บางคราวก็ห่างไปบ้าง โดยเฉพาะในสมัยกรุงธนบุรีมีการติดต่อทางพาณิชย์ตลอดมา ไทยกับจีนได้ผลพาณิชย์จากกันและกัน อย่างน่าพึงใจที่สุด แต่ผลพาณิชย์ที่ว่ามาเสื่อมสลายเสียเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะสัญญาระหว่างไทยกับบางประเทศในยุโรป (ดูสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้าขาย พ.ศ. ๒๓๙๘) ตั้งแต่บัดนั้นมา การค้าขายของไทยด้านทะเลก็หายเงียบไป การค้าขายทางบกก็พลอยลดลงตามกัน จนดูเหมือนว่าคนที่ไม่เคยรู้เรื่องการค้าขายของไทย มักเข้าใจผิดว่าไทยค้าขายไม่เป็น หรือไทยไม่ชอบค้าขาย ชาวต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เรื่องเก่าแล้วเข้าใจผิดอย่างที่ว่า มานี้.

แม้คนไทยรุ่นใหม่ที่ลืมเรื่องเก่าของชาติตนเอง หรือยังไม่ทราบดีพอก็มักจะหลงเข้าใจผิดไปบ้าง จนเห็นว่า การค้าขายไม่คู่ควรกับคนไทย แต่เมื่อทราบความจริงครั้งเดิมๆมาแล้ว ก็เข้าใจดีและรักการค้าขายขึ้นทุกวัน.

ยังมีอีกข้อหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา คือว่าเพียงแต่การค้าขายทางราชการทรุดโทรมแล้ว ไม่น่าจะเป็นเหตุ ตัดหนทางของประชาชนให้หยุดชะงักลงไปด้วย อันที่จริงทางราชการมิได้ห้ามปรามเลย แต่ควรเข้าใจว่าความรู้สึกทั่วๆไป ย่อมยำเกรงทางราชการมากที่สุด เมื่อทางราชการต้องมาเลิกค้าขายลงเช่นนี้ ก็เป็นช่องทางให้ คาดคิดเห็นไปว่าทางราชการไม่ชอบค้า ผู้ที่เป็นหลักฐานโดยมากในสมัยนั้นรับราชการประจำอยู่แทบทุกคน ย่อมจะหวาดเกรงไม่กล้าดำเนินงานค้าให้ใหญ่โต และทางของพ่อค้ากับทางของข้าราชการรุ่นเก่าเดินผิดทำนอง กันอยู่บ้าง พ่อค้ามุ่งหาทรัพย์เป็นที่ตั้ง แต่ข้าราชการระวังเรื่องยศๆศักดิ์ๆเป็นกังวลไม่น้อย จึงร่วมทางกันยาก.

จะพูดตรงๆ ก็คือว่าเป็นทั้งข้าราชการและพ่อค้าพร้อมๆกันนั้นไม่ใช่ง่ายนัก ก็ใครเล่าจะกล้าเผชิญกับความยากในข้อนี้.

อีกประการหนึ่งคนฉลาดเฉลียวโดยมากก็มักถูกชักนำให้เข้าอยู่ในวงราชการเสีย เป็นพื้น เพราะคำให้พรแบบเก่า มักจะส่งกันว่า ขอให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด และทางที่จะเป็นได้ในสมัยนั้นก็ต้องรับราชการ เพราะฉะนั้น ความสนใจเรื่องการค้าจึงมีเหลือน้อยเต็มที แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของใครโดยเฉพาะ หากแต่ชาติไทยต้องรับเคราะห์เปล่าๆเท่านั้น.

๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ราชทูตไปกรุงจีน พร้อมด้วยเรือสำเภาหลวง ๑๑ ลำ บรรทุกสินค้าเต็มทุกลำ มีพระราชสาส์นแสดงพระราชประสงค์ส่งเสริมสัมพันธภาพไปด้วย (ยังมีสำเนาพระราชสาส์นในหอสมุดแห่งชาติ ผู้สนใจตรวจได้เสมอ)

กระบวนเรือราชทูตไทยถวายบังคมลาออกไป ณ วันอังคารเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๗ นาฬิกา ๑๒ นาที นอกจากเจริญราชสันถวไมตรีเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีพระราชประสงค์จะให้ราชทูต จัดซื้อหาเครื่องทัพพสัมภาระสำหรับใช้ในการสร้างนครหลวงใหม่ด้วย

เหตุใดจึงเพิ่งมาทรงพระราชดำริสร้างพระมหานครในปีที่ ๑๔ จากปีปราบดาภิเษก ข้อนี้เข้าใจไม่ยาก.

การเริ่มต้นของสมัยกรุงธนบุรี เราทราบกันดีแล้วว่าต้องเริ่มต้นด้วยการปราบข้าศึกศัตรูที่เข้ามารุกรานไทย ปราบหนเดียวไม่เสร็จ และไม่ใช่ปราบได้ง่ายๆ เพราะข้าศึกมีกำลังมาก ทั้งมีเล่ห์เหลี่ยมยอกย้อนหลายอย่างนมนานมา ต้องคอยทำลายกำลังของข้าศึกที่ยกทุ่มเทเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องคอยควบคุมพวกแตกรัง คอยชุบย้อมพวกขวัญหนี คอยหากำลังปลูกเลี้ยงประชากรที่สิ้นไร้ไม้ตอก ภาระทุกทางสุมอยู่ที่พระองค์ การแบกภาระอันหนักนี้จะลำบากยากเข็ญเพียงไร บรรดาผู้กตัญญูย่อมรู้สึกได้ดี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามให้ภารกิจลุล่วงไปโดยเร็วที่สุด ภาระเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทำให้เสร็จก่อน ถ้าไม่สามารถในภาระเช่นนี้ ก็หมายความว่าชาติไทยจะตั้งขึ้นยาก การตั้งชาติไทยจึงเป็นอันเดียวกับการอำนวยภาระหนักเหล่านั้นให้เป็นผลสำคัญ แก่บ้านเม​ือง เมื่อชาติไทยตั้งเป็นหลักมั่นคงแล้ว การสร้างพระนครก็จะสะดวกดี และเป็นศรีสง่าสมแก่ชาติไทยด้วย หากชาติยังอ่อนง่อนแง่น มัวรีบสร้างพระนครให้โอ่โถงเสียก่อน กำลังทางอื่นๆ ถูกเฉลี่ยมาทุ่มเทลงในการสร้างพระนครหมด ก็ดูเหมือนว่าพระนครนั้นมีแต่ความสวยสดงดงามภายนอก แต่สาระสำคัญส่วนซึ่งเป็นแกนในยังหามั่นคงไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จะนอนตาหลับได้หรือ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรีบสร้างชาติไทย หมายถึงการสร้างกำลังส่วนสำคัญๆ ของบ้านเมืองดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกำลังทางทหารและการเศรษฐกิจ จนบ้านเมืองแข็งแรงสมบูรณ์สมควรแก่การที่จะสร้างพระมหานคร เป็นใจกลางของประเทศแล้ว พระองค์จึงเริ่มทรงพระราชดำริสถาปนาพระมหานคร พระราชอัธยาศัยอันนี้ เป็นข้อแสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ทรงตื่นราชบัลลังก์ ไม่ทรงกังวลในพระบรมสุขส่วนพระองค์ยิ่งกว่าที่จะจัดการบ้านเมืองให้เจริญ ยิ่งขึ้น ทรงกังวลแต่จะปลุกให้ไทยตื่นในการสร้างความไพศาลแก่ไทยโดยขะมักเขม้น ใครๆที่รู้ความจริง จึงหาทางตำหนิพระองค์ในส่วนบกพร่องได้ยาก พระราชปรีชาญาณในการสร้างชาติหลักแหลมลึกซึ้ง พระราชหฤทัยหนักแน่นและโอบอ้อม ความสำเร็จจึงบรรลุมาเป็นขั้นๆ และนับวันจะสำเร็จยิ่งๆขึ้น หากไม่มีการตัดรอนพระชนม์ชีพของพระองค์เสีย

๔. พระยามหานุภาพ จินตกวีผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวโปรดให้ไปในกองราชทูตเจริญพระราชไมตรีครั้งสำคัญกับประเทศจีน ในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ นั้น ได้ประพันธ์กระแสพระราชปรารภในการสร้างพระมหานครไว้ในกลอนนิราสว่าดังนี้

แรกราชดำริตริตรองถวิล
จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาม
จะสร้างสรรดั่งสวรรค์ที่เรืองนาม
จึงจะงามมงกุฎอยุธยา

บทความสั้นๆเท่านี้ แสดงให้เห็นความหมายอันลึกซึ้งในพระราชหฤทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพียง ไร ทรงพระราชดำริจะให้ช่างสร้างพระนครให้เห็นเป็นดังเมืองสวรรค์ จึงจะสมเป็นราชธานีของประเทศไทย

ความจริงอิฐปูนเท่าที่มีอยู่แต่ก่อนก็ไม่น้อย เช่นที่กรุงเก่า ลพบุรี และตามวัดร้างอีกหลายวัด ถ้าจะลองให้รื้อขนรวบรวมมาสร้างพระนครก่อน ก็คงจะพอทำได้ไม่ยากนักมิใช่หรือ แต่จะเอาดีที่ตรงไหน การเก็บของเก่ามาสร้างใหม่ก็ดี ในเมื่อไม่สามารถหาของใหม่มาสร้างเท่านั้น แต่วัตถุสถานที่สร้างใหม่นั้นจะได้ชื่อว่านครอิฐหักกากปูน ครั้นจะเอาดีที่สามารถรื้อมาทำขึ้นใหม่ก็พูดไม่ถนัด ทั้งของเก่าอันพีงสงวนไว้เป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน ก็ถูกรื้อสูญรูปทรงของเก่าหมด นับว่าเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่มีดีอย่างไรเลย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงไม่โปรดให้ทำเช่นนั้น ไหนๆ ก็ทรงกู้ชาติไทยขึ้นใหม่แล้ว สมควรสร้างนครหลวงของชาติเสียใหม่ด้วย จึงจะเหมาะด้วยประการทั้งปวง และการสร้างนครหลวง ต้องพยายามทำให้มองเห็นความสำคัญได้หลายทาง เมื่อชาวต่างประเทศมาเห็นนครหลวงของไทยแล้ว ควรให้เขาได้เกิดความสำนึกว่า

๑. ไทยมีประเทศอันอุดมสมบูรณ์
๒. ประเทศของไทยมั่นคงแข็งแรง
๓. ชาวไทยเข้มแข็งสามารถดำรงชาติอันมหึมาไว้ได้

นี่คือรัศมีอย่างน้อยที่จะหวังได้จากการสร้างนครหลวงขึ้นใหม่ ถ้าคิดสร้างนครชนิดเตรียมสู้ในบ้าน ไม่ให้เกิดความหมายสำคัญประการใดแก่ผู้ให้เห็น เป็นแต่สร้างขอไปที หรือสร้างเพื่อคุ้มรังของประมุขมากกว่าแล้ว พระองค์ท่านคงไม่ยอมเสียเวลาทรงพระราชดำริเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงทรงรอมาจนประเทศไทยไพศาล กองทัพไทยเข้มแข็งทุกด้าน และการเศรษฐกิจตรึงอยู่กับความมั่งคั่งของบ้านเมืองแล้ว ก็โปรดให้เริ่มการเตรียมสร้างพระนครทันที

หลังจากโปรดให้ราชทูตไทยออกไปประเทศจีน ถึงฤดูฝนว่างการทัพศึก มีโอกาสได้ทรงทะนุบำรุงการพระพุทธศาสนา และบำรุงคณะสงฆ์ตามสมควร ปรากฏในจดหมายเหตุโหรฉบับรามัญบันทึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงทำบุญ ตั้งแต่เข้าพรรษา (เดือน ๘ กลางเดือนเริ่มต้นเข้าพรรษา) เป็นเวลาครึ่งเดือน เมื่อจวนออกพรรษา ทรงสงเคราะห์คนยากจน ทรงอนุเคราะห์ผู้เฒ่าทั่วไป ทั้งที่เป็นข้าราชการและราษฎร ออกพรรษาแล้ว ทรงทอดพระกฐินหลวงทุกวัด มิได้ว่างเว้นสักวัดหนึ่ง

ในเรื่องเกี่ยวกับวัดนี้ น่าสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่โปรดให้แยกวัดเป็นราษฎร์เป็นหลวง เพื่อไม่ให้มีแบ่งชั้นวรรณะ เพราะว่าทุกอารามล้วนเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเหมือนกันหมด สมควรได้รับการทะนุบำรุง ตามศรัทธาของผู้นับถือ ไม่มีขีดคั่นว่า นี่ต้องเป็นวัดเจ้านาย นี่เป็นวัดราษฎร ใครศรัทธาก็ทำบุญได้ทั้งนั้น พระราชทานเสรีภาพ และสมภาพในเรื่องศาสนานี้ นับว่าดีพอใช้ แต่ก็มิใช่ว่าจะขาดการควบคุมเสียเลย

๕. การสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแทนองค์พระพุทธเจ้า ถ้ามีการแบ่งวัดเป็นชั้นๆแล้ว พระพุทธรูปก็จะต้องพลอยถูกจัดชั้นไปด้วย ต่างว่าแบ่งวัดเป็นพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ พระอารามหลวงยังถูกแบ่งเป็นชั้นๆ อีกคือ วัดชั้นตรี วัดชั้นโท วัดชั้นเอก พระพุทธรูปในวัดเหล่านั้น ก็ต้องดำรงศักดิ์ไปตามขนาดของวัด และพึงเข้าใจเถิดว่า พระพุทธรูปในวัดราษฎร์ย่อมต้องต่ำกว่า พระพุทธรูปในวัดหลวงเป็นแน่ทีเดียว แม้พระพุทธรูปในวัดหลวงก็ยังลดเหลื่อมกันอีก คือพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นตรี ต่ำกว่าพระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นโท โดยนัยนี้ต้องนับว่า พระพุทธรูปในวัดหลวงชั้นเอกเป็นสูงสุดกว่าพระพุทธรูปบรรดามี ความลดหลั่นเช่นนี้เหมาะแก่พระพุทธรูปหรือไม่

เข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะให้พระพุทธรูปอยู่ใน ระดับเดียว​กัน ไม่ว่าพระพุทธรูปในวัดไหนๆ และใครจะเป็นผู้สร้างก็ตาม ย่อมสมควรได้รับความนับถือเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์เท่ากันหมด

นี่เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ที่ช่วยรักษาพระพุทธศาสนามิให้ถูกจูงไปสู่ลัทธิแบ่งชั้นวรรณะ มิให้กระแสชองพระพุทธโอวาทเดินไปนอกทางของประโยชน์อันใหญ่หลวง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตรึงอยู่กับเสรีภาพ และสมภาพโดยแท้

เขตทอดพระกฐินต้องสิ้นสุดลงวันกลางเดือน ๑๒ ตามวินัยนิยม ในระหว่างนี้เกิดเรื่องหยุกหยิกขึ้นทางนครเวียงจันทน์

ควรเล่าความเดิมของนครเวียงจันทน์สักเล็กน้อย นครเวียงจันทน์แท้ตั้งอยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย ที่จริงคนในเมืองนั้นล้วนเป็นไทยทั้งสิ้น ต่างแยกย้ายตั้งเป็นอิสระสืบกันมาช้านาน จนอาณาเขตของแต่ละฝ่าย เกือบจะชักพาให้ลืมชาติเดิมของตนเสีย ถึงตอนต้นสมัยกรุงธนบุรี นครเวียงจันทน์ตกที่คับขัน เคยขอความช่วยเหลือ เมื่อคราวเกิดพวกข่ากบฏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง กาญจนาคม) ผู้ครองนครราชสีมานำกองทัพไปช่วยนครเวียงจันทน์ปราบข่ากบฏ จนเหตุการณ์สงบราบคาบ

นครเวียงจันทน์ก็แสดงท่าทีอยากจะเป็นมิตรกับกรุงธนบุรี แต่รั้งๆรอๆ เพราะเกรงพม่า และเพราะยังไม่ไว้ใจว่า กำลังของกรุงธนบุรีจะเข้มแข็งพอช่วยนครเวียงจันทน์ต่อต้านพม่า ได้อ้อแอ้เรื่อยมาจนเกิดเรื่องร้ายขึ้น คือตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี เจ้านครเวียงจันทน์เป็นอริวิวาทกับพระวอ เสนาบดีผู้ใหญ่ซึ่งเคยอุปการะกันมา ในที่สุดถึงรบกัน แต่พระวอสู้ไม่ได้ อพยพหนีมาตั้งอยู่นครจัมปาศักดิ์ แล้วเลื่อนไปตั้งอยู่ดอนมดแดง เข้าในแขวงพระราชอาณาจักรกรุงธนบุรี บอกขอสวามิภักดิ์มายังใต้เบื้องบทมาลย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็โปรดให้รับไว้ในพระราชอาณาจักร

ฝ่ายนครเวียงจันทน์ได้ทราบว่า พระวอออกจากนครจัมปาศักดิ์ไปตั้งอยู่ ณ ดอนมดแดง ซึ่งบัดนั้นยังเป็น ชายพระราชอาณาจักรเขตกรุงธนบุรี เข้าใจว่าทางกรุงธนบุรีคงจะไม่เหลียวแลถึง กำลังของกรุงธนบุรีเห็นจะ ยังไม่มีพอปกแผ่รักษาทั่วกันได้ หากจะจู่โจมลอบเข้าทำการก้ำเกินสักครั้งคราวหนึ่งอย่างรวดเร็ว ก็น่าจะไม่มีเรื่องร้าวรานถึงกรุงธนบุรีเป็นแน่


๖. นี่เป็นการคาดคะเนผิดถนัดของนครเวียงจันทน์ ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นขึ้นไปสักหน่อย คงไม่มีเรื่องวู่วามจริง เพราะการปกครองอ่อนแอมาก

แต่สมัยกรุงธนบุรีไม่เหมือนสมัยก่อน ไม่ยอมให้ใครลู่คมง่ายๆ อาณาเขตทุกทิศทุกทางอยู่ในความระแวดระวังทั่วถึงกัน ครั้นเจ้านครเวียงจันทน์อุกอาจยกทัพตามมาทำร้ายพระวอในพระราชอาณาเขตประเทศ ไทย ความทราบถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้กองทัพไทยขึ้นไปปราบโดยด่วน

กองทัพไทยตีได้นครเวียงจันทน์ ทั้งนครหลวงพระบางก็ยอมสวามิภักดิ์ด้วย พระเจ้าบุญสารผู้ครองนครเวียงจันทน์ หนีเล็ดลอดไปได้ กองทัพไทยจึงให้พระยาสุโภอยู่รักษานคร แล้วเชิญราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าบุญสารลงมา ณ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ทะนุบำรุงราชบุตรราชธิดาของพระเจ้าบุญสาร ไว้เป็นอั​นดี

ที่ตรงนี้มีเรื่องเกร็ดแทรก ตามคำเล่าของชาวอีสานบางคน ซึ่งพยายามสืบเสาะเรื่องเก่าๆสมัยนั้น ได้เล่าว่า เมื่อกองทัพไทยกลับถึงกรุงธนบุรี กราบทูลถวายบรรดาทรัพย์และเชลยศึกตามหน้าที่ ปรากฏว่ามีเจ้าหญิงราชธิดาพระเจ้าบุญสารองค์หนึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าตน ได้เสียต​ัวกับแม่ทัพไทยในระหว่างเดินทางแล้ว หาควรถวายเข้าเป็นหลวงไม่ เมื่อไต่สวนได้ความสมจริง จึงโปรดให้จำคุกแม่ทัพไทยเสีย ๓ เดือน พ้นโทษแล้วให้คงยศตามเดิม เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใด ยากที่จะวินิจฉัย เพราะเป็นเพียงคำเล่าอย่างเดียว หาหลักฐานอย่างอื่นๆสนับสนุนไม่ถนัด

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบ ไม่ว่าเมืองใด ทรงห้ามขาดมิให้ทหารทำร้าย หรือทำอันตรายแก่พวกเจ้าเมือง ใครจับได้ต้องถวายเป็นหลวง เพื่อมิให้ลูกหลานเจ้าเมืองต้องอัปยศ ผู้ใดขัดขืนมีโทษหนัก (ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ เรื่องปราบเมืองพุทไธมาศ พ.ศ. ๒๓๑๔)

หากว่าเรื่องที่เล่ามานั้นมีมูลอยู่บ้าง จะเห็นได้ว่าการลงโทษแม่ทัพไทยผู้บังอาจนั้นเบาเกินไป แต่เพราะแม่ทัพมีความชอบในการตีนครเวียงจันทน์ได้ จึงโปรดให้ลงโทษแต่น้อย ก็เห็นจะสมควรกันแล้วกระมัง

รุ่งขึ้นปีฉลู กลางปี พระเจ้าบุญสารลอบยกกำลังมาตีนครเวียงจันทน์ ฆ่าพระยาสุโภ ผู้รักษานครนั้นเสีย ความทราบมาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาตั้งเจ้านันทเสนราชบุตรพระเจ้าบุญ สาร เป็นพระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เจ้าพระนครเวียงจันทน์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๒๔ โปรดให้พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น การเมืองทางนครเวียงจันทน์ก็สงบ นับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำเนินพระราโชบาย เหมาะแก่สภาพการเป็นอย่างดี

พระเจ้านันทเสนราชพงษ์มะลาน เป็นผู้เข้มแข็งมาก และภักดีมั่นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อได้รับตำแหน่ง ครองนครเวียงจันทน์แล้ว ก็รีบทะนุบำรุงบ้านเมืองเต็มที่ หัวเมืองต่างๆ ที่แตกแยกออกไปในสมัยอ่อนแอ ก็อุตส่าห์รวบรวมกลับคืนตามเดิม และติดต่อสมัครสมานกับนครหลวงพระบาง ไม่วิวาทร้าวรานกันดังแต่ก่อน ราชอาณาจักรไทยเวลานั้นในด้านอีสานร่วมด้วยอุดรจึงแผ่ไปตลอดสิบสองจุไทย หัวพันห้าทั้งหก และหัวเมืองพวน

วันเดียวกับที่พระเจ้านันทเสนฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เดินทางขึ้นไปครองนครเวียงจันทน์นั้น เกิดเรื่องร้ายขึ้นในหมู่ชนชาวญวนสามิภักดิ์ ซึ่งมีองเชียงชุนเป็นหัวหน้า


๗. องเชียงชุนเป็นอาขององเชียงสือ (คือพระเจ้าเวียดนามยาลอง) องเชียงชุนแตกหนีพวกราชวงศ์เล้ (พวกไตเชิง หรือไกเซิล) เข้ามาอยู่ในเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) ต่อจากเมืองตราดออกไป กองทัพไทยไปปราบเมืองพุทไธมาศจับองเชียงชุนได้

ในคราวนั้น องเชียงชุนยอมสามิภักดิ์อยู่กับไทยโดยดี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเชียงชุน ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชาเศรษฐี เทียบเท่าบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองพุทไธมาศ (ปรากฏนามอยู่ในหมายรับสั่ง เรื่องรับและสมโภชพระแก้วมรกต ดูหนังสือเอกสารสำคัญ รวบรวมโดยศรีชลาลัย ภาค ๑ หน้า ๒๕ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย)

การสามิภักดิ์ทำนองนี้ หมายความว่า มิใช่ตั้งใจมาสามิภักดิ์โดยตรง หากเป็นเพราะไม่มีทางไปอีกแล้ว ก็จำต้องสามิภักดิ์พอผ่อนหายใจ จนกว่าจะมีลู่ทางอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

พระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ได้รับพระมหากรุณาเข้ามาอยู่ในกรุงและรับราชการตั้งแต่ตอนต้นรัชกาล สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาจนถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ก็ถูกจับโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ พร้อมกับพรรคพวกอีกหลายคน (พงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียง กล่าวถึงเรื่องนี้ ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ หน้า ๘๗)

ทำไมพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) จึงคิดกบฏ ข้อนี้จะต้องเล่าเหตุการณ์ในเมืองญวนนำทางเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

เมื่อตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองญวนยังไม่มีไมตรีกับไทย ขณะที่กองทัพไทยออกไปปราบ เมืองพุทไธมาศและกัมพูชาในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ ญวนได้กะทบกะทั่งกับหน่วยทหารของกองทัพไทยบ้างเล็กน้อย โดยกองทหารฝ่ายญวนทำการขัดขวางการสื่อสารของไทยบางแห่ง และเข้าแทรกแทรงเมืองปาสักอีกด้วย (ดูประขุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้โกษาธิบดีมีหนังสือไปว่ากล่าวญวนในทาง ไมตรีก่อน แต่น่าจะไม่เป็นผล เพราะความเข้าใจผิดและความปรารถนาอันผิดของญวน ทำให้ญวนมองไม่เห็นทางไมตรีกับไทยได้ถนัด

ปรากฏในพงศาวดารของญวนเองว่า บางคราวเรือสินค้าหลวงของประเทศไทยเคยถูกญวนตีปล้น พวกตีปล้นไม่ใช่ญวนสามัญ เป็นพวกกรมการหัวเมืองของญวน ความประพฤติเลวทราม ข้อนี้ ย่อมจะเพิ่มความเกลียดชังให้แก่ชาวไทยมากขึ้น

แม้พงศาวดารของญวนยังจารึกความข้อนี้ไว้ ต้องเข้าใจว่า คงไม่ใช่ครั้งเดียวและไม่ใช่การเล็กน้อย ที่กรมการหัวเมืองของประเทศญวนทำการรังควานเรือค้าขายของไทย ในทำนองปล้นอย่างสลัด แต่ด้วยพระราชหฤทัยอันหลักแหลมและลึกซึ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามที่จะไม่ถือโทษ ทรงหาทางที่จะทำความเข้าใจอันดีต่อกันมากกว่า เพราะไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะเป็นศัตรูกับญวนเลย จึงทรงพระกรุณาให้รับองเชียงชุนผู้เป็นอาขององเชียงสือมาชุบเลี้ยงจนได้เป็น ที่พระยา​ราชาเศรษฐีดังกล่าวแล้ว แต่ทางเมืองญวนอนำก๊กจะคิดเห็นอย่างไรในข้อนี้ไม่ปรากฏเรื่องราว

ครั้นเมื่อพวกเจ้าเมืองอนำก๊กถูกพวกราชวงศ์เล้ตีแตกยับเยินลงมาทางใต้ กำลังต้านทานเหลือน้อยลงทุกที จึงคิดหากำลังทางเมืองเขมรโดยด่วน พยายามเข้าแซกแซงการเมืองเขมร จนเกิดกบฏขึ้นในเมืองเขมร พ.ศ. ๒๓๒๓ ทำให้เขมรย่อยยับลงไปมากมาย พวกกบฏปลงพระชนม์สมเด็จพระรามราชา กษัตริย์วีรราชแห่งเขมร พร้อมทั้งราชบุตรที่ยังทรงพระเยาว์วอดวายหมด ญวนเร่งส่งกำลังหนุนเขมรฝ่ายกบฏ และพยายามสูบหาประโยชน์ จากเมืองเขมรอย่างเร่งร้อน เพื่อนำไปใช้สู้รบกับราชวงศ์เล้ ในระยะใกล้ๆกันนี้ยังหาโอกาสส่งคนสนิทเข้ามาติดต่อกับ พระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) ในกรุงธนบุรีอีก จนทางราชการของไทยจับได้ สืบสวนได้ความว่าพระยาราชาเศรษฐี (องเชียงชุน) กับพวกเป็นกบฏแน่ จึงต้องรีบจัดการปราบทันที และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น จึงโปรดให้กองทัพไทยออกไปจัดการเมืองเขมร แล้วให้เดินทางไปรับมือกับญวนให้เด็ดขาดลงไปทีเดียว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทแห่งพระราชวงศ์กู้ชาติ เป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสรศรี (บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง) และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา


๘. โปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ คือหลังจากปราบกบฏญวนในพระนครแล้วครึ่งเดือนเท่านั้น

ถ้ากองทัพไทยออกไปทำการตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติคราวนี้เป็นผลสำเร็จ เมืองเขมรก็คงสำเร็จเรียบร้อย และมั่นคง ดินแดนญวนใต้ต่อจากเขมรออกไป ซึ่งแต่ก่อนไทยเคยอยู่มาแล้ว ก็คงจะกลับเข้ามาอยู่ในความคุ้มครอง ของไทยตามเดิม ตัดความก้าวร้าวของญวนครั้งนั้นลงได้เด็ดขาด ด้านตะวันออกของไทยจะปลอดภัยดีที่สุด เมื่อเช่นนั้นก็ยังจะเหลือแต่งานด้านตะวันตกโดยเฉพาะ ซึ่งอาจทำได้ง่ายและเร็วขึ้น

งานด้านตะวันตกที่ว่านี้ก็คือการไปรับพวกพี่น้องชาวไทยที่เมืองพม่า ซึ่งเขาเหล่านั้นถูกกวาดต้อนไปครั้งกรุงเก่าแตก

แต่เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไป ตามพระราชโองการของพระผู้กู้ชาติ ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้าง แต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมี และจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้น ไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแทรง ฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้อง สู้รบกับพวกราชวงศ์เล้ ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย (เป็นพี่เขยขององเชียงสือ) จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย

โชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้ กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับอยู่เหมือนกัน (ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๗๘ เป็นต้น) และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมาย ในการทำสัญญา (ดูพงศาวดารญวน เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒) ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพ สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน

ฝ่ายการในกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชักชวน ทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี ๓ คน คือ นายบุนนาค๑ หลวงสุระ๑ หลวงชะนะ๑ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรี ในเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที

ยังมีพวกกบฏแอบแฝงส้องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้น รับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า

ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในทันทีนั้นเองเสด็จตื่นบรรทมออกบัญชาการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพราะยังไม่ทรงทราบว่าเป็นข้าศึกต่างเมืองยกมา หรือเป็นแต่คนทรยศชาติไทยคิดก่อการกบฏขึ้น จวนรุ่งสว่าง ทหารหลวงยิงเรือพวกกบฏล่ม และกองเรือฝ่ายกบฏเริ่มถอยแล้ว ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทอดพระเนตรเห็น พวกกบฏล้วนเป็นคนไทยทั้งนั้น ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัยมาก เวลาบ้านเมืองเป็นอันตรายเสียแก่พม่าข้าศึก หามีคนกล้าหาญสะสมกำลังยกมาต่อสู้พม่าไม่ พระองค์สู้พลีพระชนม์ชีพเข้ามาต่อสู้พม่า จนปราบปรามลงราบคาบ กู้ชาติไทยกลับเป็นอิสระ ให้ไทยมีชาติพ้นจากความเป็นทาสพม่า ทรงพยายามทุกทางที่จะให้ไทยเจริญอย่างรวดเร็ว ให้ไทยทุกคนได้ทำมาหากินเป็นสุขสมบูรณ์ ไม่ให้ศัตรูดูหมิ่น ไม่ให้ต่างชาติเหยียดหยามไทย แม้จะต้องเหนื่อยหนักเท่าไร พระองค์มิได้ทรงยอมท้อถอย ทั้งไม่เคยมีพระราชจริยานุวัตรเป็นผลร้ายแก่ประเทศชาติ อุตส่าห์ก่อกู้ และสร้างชาติไทยจนเป็นปึกแผ่นสำหรับดำรงความเป็นไทยให้มั่นคง และขยับขยายประเทศชาติให้ไพศาลต่อไป ซึ่งพี่น้องชาวไทยผู้รักชาติควรจะปลื้มใจที่สุด แต่ไฉน จึงมีชาวไทยบางหมู่คิดกบฏต่อพระองค์ เพราะเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไรหรือ หรือว่าเพราะเขาต้องการความเป็นใหญ่เป็นโตครอบงำชาติไทยต่างหาก

๙. อย่างไรก็ตาม ถ้าเพียงที่พวกกบฏมีความมุ่งหมายจะทำลายพระองค์เสีย แต่บ้านเมืองและประเทศชาติยังคงอยู่ตามเดิม พระองค์ก็พร้อมที่จะให้การเป็นไปโดยไม่ขัดข้อง แต่ต้องเป็นไปโดยทางสงบ ไม่ทำให้ประชาราษฎรเดือดร้อนระส่ำระสาย เพราะชีวิตของพระองค์ขึ้นอยู่แก่ความสุขสมบูรณ์ของประชาราษฎรเป็นสำคัญ เมื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวไทยแล้ว การประหารชีวิตของพระองค์ไม่เป็นของประหลาดสำหรับพระองค์เลย เป็นหน้าที่ของชาติไทยเองที่จะต้องรับรู้ในเรื่องนี้ตลอดไป

ข้อนี้ เรายังนึกถึงพระราชดำรัสครั้งต้นแผ่นดิน (ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖ หน้า ๑๙) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ตรัสต่อหน้าพระสงฆ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก ที่เมืองพุทไธมาศ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ พระราชดำรัสนั้นเท่ากับพระราชปฏิญญาทรงตั้งสัตยาธิษฐานให้ประจักษ์ไว้ว่าดัง นี้

"เป็นความสัตย์แก่ข้า ข้าทำความเพียรมิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อที่จะป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีร์ษะและหทัย วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น"

นี่คือพระราชดำรัสที่หนักแน่น เป็นเหมือนพรหมประกาศิตที่จารึกอยู่ในดวงใจของชาวไทยผู้กตัญญูทั้งหลาย อย่างไม่มีวันลบเลือน เมื่อถึงวาระสุดท้าย พระองค์ได้ทรงทำตามคำปฏิญญาจริงทุกอย่าง ในระหว่างทรงผนวช มิใช่หมดโอกาสปราบกบฏ แต่เป็นวิสัยพระมหากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ทรงพยายามแต่จะให้การเป็นไปโดยสงบทุกทาง ซึ่งผู้ที่ใช้ความไตร่ตรองสักหน่อย ก็จะมองเห็นพระราชหฤทัยอันเต็มด้วยพระมหากรุณาอย่างสุดซึ้ง

ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวช เพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก ๓ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไข เสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงขัดข้องอย่างใด ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออก ทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว ๓ เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม (เหมือนคราวเสด็จออกทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕)

เหตุไฉนพวกกบฏจึงขอให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จออกทรงผนวช ทำไมจึงไม่บุกบั่นเข้าถึงพระองค์ แล้วจับสำเร็จโทษเสียเล่า

ข้อนี้คงเป็นเพราะกำลังของพวกกบฏยังไม่พอจะทำได้เช่นนั้นประการหนึ่ง หรือบางทีอีกประการหนึ่งคงเป็นเพราะราษฎรไม่ต้องการเช่นนั้น แม้ว่าเหล่าราษฎรที่ถูกหลอกให้เข้ากองทัพมาทำการกบฏ ก็คงจะไม่ลืมพระคุณ ถึงกับคิดฆ่าพระองค์ทีเดียว ขอเพียงให้พระองค์ทรงผนวชชั่วคราวเท่านั้นก็พอแล้ว หากพวกกบฏแท้ๆ จะคิดหักหาญเกินไป ความลับจะแดงขึ้นถึงต้องปะทะกับราษฎรอีกก็เป็นได้ จึงจำใจขอเพียงให้ทรงผนวช ๓ เดือน เพื่อให้ถูกใจราษฎรที่หลงเชื่อคำปลุกปั่นพลางๆ เมื่อราษฎรกลับคืนบ้านเรือนของตนๆหมดแล้ว เรื่องต่อไป คิดอ่านภายหลังก็คงได้ เพราะผนวชแล้วจะเชือดเนื้อเถือหนังอย่างไร เมื่อไม่เกรงบาปในการทำลายพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะทำได้ง่ายๆ แต่ความโหดร้ายจะติดแผ่นดินอยู่ไม่รู้สิ้น


๑๐. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชแล้ว ๑๒ วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๓) พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ยกทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านปูน ตอนเหนือพระราชวังหลวง พงศาวดารได้เสริมความตอนนี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกว่า พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) กับพระยาสรรค์ปรึกษากันให้สึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกจากพระภิกษุแล้ว พันธนาการ​ไว้ ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (คือโซ่ตรวน)

แต่ข้อนี้ ไม่อาจจะเป็นไปได้ เพราะจดหมายเหตุความทรงจำยืนยันว่า จนถึงเวลาที่พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกองไปปราบกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังทรงผนวชอยู่ตามเดิม ทั้งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ (ด้วง) ทรงชำระเรียบเรียง พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ ก็รับรองว่า ขณะที่เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ยกทัพรีบรุดเข้ามาถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเพศเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นอันฟังได้ว่า ในตอนนี้ยังไม่ถูกจับสึก และพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) คงไม่กล้าพอที่จะหักหาญจับพระผู้กู้ชาติสึกง่ายๆ

แต่การมาของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ในลักษณะเช่นนี้ คงทำให้พวกข้าหลวงรักษาพระนครคิดไปในทางแง่ร้าย เพราะพวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) การบริหารราชการ จึงยากที่จะเป็นไปตามปกติ ความไม่สงบก็พลันที่จะเกิดขึ้นทั่วๆไป พวกพลอยผะสมผะสานก็เทไปเทมา ตามที่เห็นว่า จะได้ประโยชน์แก่ตัวในขณะนั้น พวกเหล่านี้ไม่มีเวลาคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศบ้านเมืองเลย ลางแห่งความระส่ำระสายปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าแล้ว ก็จำเป็นที่ข้าหลวงรักษาพระนครจะต้องรีบจัดการ ตัดต้นเหตุเสียโดยเร็ว ปรึกษาตกลงกัน ขอให้พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามทรงดำเนินงาน ตามที่เห็นสมควรต่อไป

กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ ๑๑ วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามน้อยนัก เป็นธรรมดาน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง

นี่เป็นข้อประจักษ์ชัดแล้วว่า พวกชาวกรุงเก่าถูกหลอกให้เฮโลเข้ามาทำการกบฏต่อพระผู้กู้ชาติของตนเอง แต่ผลแห่งการกบฏนั้น พวกราษฎรคงนึกไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุให้พระผู้กู้ชาติของตนต้องถูกปลงพระชนม์ ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา (และเขาได้สำนึกดีต่อเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ โดยร้องไห้บูชาพระคุณอย่างน่าสังเวช)

ในขณะที่จะเกิดรบกัน ระหว่างกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กับกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงทราบล่วงหน้าแล้ว มีพระราชดำรัสห้ามมิให้ต่อรบกัน เพราะทรงต้องการความสงบแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรเปลี่ยนในลักษณะที่สงบ เพราะเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ข้าศึกต่างเมืองมาแต่ไหน และพระองค์เอง ก็คือ พระผู้กู้ชาติให้ไทยกลับฟื้น ไม่ใช่ยักษ์มารหรือคนทรยศชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเลย พระองค์โปรดให้เลือกดำเนินในทางสงบ ก็เพื่อมิให้ราษฎรต้องพลอยเสียเลือดเนื้อ สงวนเลือดเนื้อไว้ใช้เพื่อชาติดีกว่า แต่พระราชปรารภสันติภาพเพื่อสันติสุขแก่ชาติไทยเช่นนี้ สำหรับสมัยนั้นต้องนับว่าสูงเกินไปมิใช่หรือ ใครเล่าจะเข้าใจถึงพระราชประสงค์อันแท้จริง

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว ๓ วัน พอเช้าวันที่ ๖ เมษายน เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่ มาถึงพระนคร แต่ก่อนจะมานั้นได้ให้กองทัพญวนและเขมรช่วยล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ (ดูพงศาวดารญวน ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๘๒ และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ หน้า ๙๕ จึงจะเข้าใจความตอนนี้ได้กระจ่าง)

ในวันที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เข้ามาถึงนั้นเอง ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นจำนวนมาก ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป


๑๑. บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถ ของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติ บริหารการแผ่นดินโดยด่วน

ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว คนเหล่านั้นทราบดีว่า ถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น ๒๘ วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคต เมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า ๕๐ นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น

ต่อจากนี้เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขไทย เริ่มการสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออก ตรงที่ตั้งค่ายมั่นทหารบกของกรุงธนบุรี ริมฉางหลวง ฝ่ายพระราชวงศ์กู้ชาติที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และ สมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา แต่กระนั้นพระราชวงศ์กู้ชาติยังคงสืบสายไม่ขาดมาจนถึงทุกวันนี้ (ดูหนังสือไทยต้องจำ และลำดับสกุลเก่า ภาค ๔ ของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๒)

ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์แล้ว ท่านก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น แต่ก็ไม่ปรารถนาหาอำนาจแก่ตัว ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย

เมื่อข่าวการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแพร่ออกไปแล้ว เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด อันเป็นเมืองสำคัญทางภาคตะวันตก ก็หลุดลอยไปจากไทย ตกอยู่แก่พม่าในปีนั้นเอง ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวน ตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกไตเซิง) ๒ ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน

ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน อย่างน่าอับอาย และเสียประโยชน์อีกมากต่อมาก (ดูพงศาวดาร ฉบับนายหยง แปล เล่ม ๒ หน้า ๓๙๔, ๔๑๙ และไทยต้องจำ พิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๑๓) เรื่องนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ขอยกไว้ไม่ต้องกล่าว

ลองหันไปตรวจดูปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่า เป็นปีที่เต็มไปด้วยพระคุณ เป็นปีที่ไทยจะเกรียงไกรยิ่งขึ้น แต่โชคยังไม่อำนวยให้แก่แผ่นดินไทย เพราะฉะนั้น พอปลงพระชนม์พระองค์ท่าน ไม่นานนัก ก็ต้องเสียเมืองสำคัญ เสียชีวิตแม่ทัพนายกอง เสียความเข้มแข็ง เสียมาตามลำดับกาลเวลา กว่าโชคจะกลับอำนวย ความรุ่งเรืองเริ่มขึ้นใหม่.

ข้าอุตส่าห์กู้ธานี
มีใครบ้างไหม มองเห็น
ฤามี แต่ตาดูไม่เป็น
เข่นฆ่า แล้วเหยียบย่ำทำไม

----- อวสานต์ -----

เหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย


ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

"เหตุใดรัชกาลที่๑ ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย" ในวรรณกรรมพระราชประวัติพระเจ้าตากสิน

โดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก

บทนำ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมคือเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพคนสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี เป็นขุนศึกที่ไว้พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถวายงานสร้างความชอบจนได้รับการเลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอันสูงกว่าขุนนางทั้งปวง พระราชทานเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม

ในช่วงปลายสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดพระสติวิปลาสสร้างเกิดความเดือดร้อนต่ออาณาประชาราษฎร์ ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้สำเร็จราชการ และชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยอมรับผิดทุกประการ จึงลงโทษด้วยการประหารชีวิต และปราบดาภิเษกพระองค์เองเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล  และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ตรงกันว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ขอผู้คุมพาไปพบสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นครั้งสุดท้าย แต่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับโบกมือไม่ให้พบ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไป กับทั้งสังขลิกพันธนาการ  เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสิ้นขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้นอายุได้สี่สิบแปดปี
                                                                                         
(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. ๒๓๐.)

จากเนื้อหาที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นจึงดูขัดแย้งกับความสัมพันธ์และความจงรักภักดีของทั้ง๒ พระองค์ที่มีความคุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์ จึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ พระองค์ในเวลาต่อมาจึงเกิดการตั้งคำถามว่า “เหตุใดรัชกาลที่ ๑ ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย” รวมถึงตอนอื่นๆ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารที่สร้างความกังขาในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหมาย“สร้างคำตอบ” ที่เป็นคำอธิบายชุดใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อความในเอกสารทางประวัติศาสตร์ และความมุ่งหมายที่ต้องการ

๑. ความสัมพันธ์ ๒ มหาราช ในเอกสารทางประวัติศาสตร์

เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มักถูกนำมาใช้อ้างอิงคือ พระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ

พระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงความสัมพันธ์นี้ที่เก่าที่สุดคือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในบานแผนกระบุว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้ชำระปี พ.ศ. ๒๓๓๘ (จ.ศ. ๑๑๕๗) ได้เริ่มปรากฏเนื้อความครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ ๑ เป็นพระราชรินทร์รับบัญชายกทัพไปตีพระยาวรวงศาธิราช ดังนี้ “ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาวงศาธิราชมาตั้งรับทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้พระราชรินทร์ พระมหามนตรียมไปตีพระยาวงศาธิราช” สำหรับพระราชพงศาวดารที่ถูกเรียบเรียงขึ้นในเวลาต่อมาคือ ฉบับหมอบรัดเล และฉบับพระราชหัตถเลขาได้ปรับปรุงเนื้อหาเล็กน้อย และได้กล่าวถึงรัชกาลที่ ๑ ตรงกันว่าปรากฏครั้งแรกเมื่อพระอนุชา หรือพระมหามนตรีในขณะนั้นรับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ก่อน จึงขออนุญาตรับพี่ชายเพื่อถวายตัว ดังนี้ “ขณะนั้นพระมหามนตรี จึงกราบทูลพระกรุณาว่าจะขอไปรับหลวงยกบัตรราชบุรีผู้พี่นั้นเข้ามาถวายตัวทำราชการ  จึงโปรดให้ออกไปรับเข้ามาแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระราชรินทร์”  (ในฉบับหมอบรัดเลใช้ว่า “พระราชวรินทร์”)

อย่างไรก็ตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีทั้งหมดข้างต้นนี้ได้ถูกผลิตซ้ำโดยใช้พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) เป็นแม่แบบในการเรียบเรียงฉบับต่อๆ มา ซึ่งเนื้อความอาจมีการตัดทอน หรือเพิ่มเติมบ้าง แต่เนื้อหาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ พระองค์นั้นมีความสอดคล้องกันคือ รัชกาลที่ ๑ อยู่ในฐานะแม่ทัพคนสำคัญที่ทำการรบควบคู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สำหรับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษถึงแม้เอกสารฉบับนี้ยังไม่สามารถสรุปที่มาได้ชัดเจน แต่เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ถูกนำไปอ้างอย่างกว้างขวางในด้านความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีตั้งแต่พระองค์จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาทลายที่ปรากฏเรื่องราวของซินแสที่ทำนายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ว่าจะได้เสวยราชย์ในภายภาคหน้า หรือเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า รัชกาลที่ ๑ ได้ฝากแหวนพลอยและดาบโบราณให้แด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองชลบุรีพร้อมสั่งเสียว่า“แต่เจ้าจงบอกแก่พระยาตากสินเขาด้วยว่า  ดาบเล่มนี้เปนของๆ ข้าฝากไปให้แก่เขา  แหวนสองวงนั้นเปนของเมียข้าฝากไปตามที่ระลึกถึงกันในเวลากันดารแสนยากแสนแค้น”  และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ตรัสตอบต่อผู้ที่นำมาให้ว่า “พระเจ้าตากทรงรับไว้แล้วจึงตรัสว่า ขอบใจนักหนาที่อยู่ไกลยังมีความอุตสาหะคิดถึงกัน  เช่นนี้เขาเรียกว่ากัลยาณมิตร” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี

จากการเปรียบเนื้อหาที่แสดงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ปรากฏในพระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เห็นได้ว่าเนื้อความในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษได้แสดงความคุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ในฐานะสหาย ด้วยเหตุนี้เนื้อความที่แสดงถึงความผูกพันในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษจึงขัดแย้งกับการพระราชประวัติช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารถึงแม้เนื้อหาจะมาจากเอกสารต่างชุดกันก็ตาม

๒.จากคำถามใน “ตัวบทประวัติศาสตร์” สู่คำตอบใน “ตัวบทวรรณกรรม”

ตัวบทวรรณกรรม หรือตัวบทเรื่องเล่า คืองานเขียนประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นคู่ขนานกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบเรื่องสั้นและนวนิยายมีเนื้อหาทั้งที่สอดคล้อง และขัดแย้งกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ การสร้าง “คำตอบ” ของข้อกังขาในเนื้อหาประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่าง ๒ มหาราชเป็นการสร้างคำอธิบายชุดใหม่ หรือสร้าง “เหตุ” ที่มีความสอดคล้องกับ “ผล” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการดัดแปลงแก้ไขรวมถึงตอกย้ำวาทกรรมเดิม  เพื่อยอพระเกียรติ  รวมถึงเน้นย้ำความสัมพันธ์ ในรูปแบบของตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี

ชุดคำตอบเหล่านี้ปรากฏในตัวบทวรรณกรรม ๕ เรื่อง คือ เรื่องสั้นเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน นวนิยายเรื่องใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? นวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข นวนิยายเรื่องตากสิน มหาราชชาตินักรบ  และสารคดีกึ่งบันเทิงคดีเรื่องดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ปรากฏคำตอบดังนี้

รู้ว่าเป็นพระองค์จริง “จึงต้องทำใจ”  ใน ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน

ตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ผู้แต่งคือหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๔? ปรากฏเนื้อหาที่สร้างคำอธิบายในทำนองว่า รัชกาลที่ ๑ ไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการชำระโทษครั้งนี้ทั้งสิ้น จึงให้เป็นไปตามที่ประชุมขุนนาง จึงสามารถอนุมานได้ว่า เพราะพระองค์ยังมีความผูกพันกัน ดังนั้นรัชกาลที่ ๑ จึง “โบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า”  ดังนี้  

ส่วนทางสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น ได้ตั้งใจแน่วแน่อยู่แล้วว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  จึงมอบหมายหน้าที่ให้ที่ประชุมข้าราชการชำระ โดยไม่ต้องมีอะไรพาดพิงมาถึงตัวท่าน จะชำระกันอย่างไร จะพิพากษาว่ากระไร มีผิดจะลงโทษอย่างไร ไม่ผิดจะทำอย่างไร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้อง  ต้องการจะให้เป็นไปตามความเห็นของที่ประชุม เมื่อเห็นคนพาหลวงอาสาศึกซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้ามาหา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็โบกมือให้พาออกไป ความมุ่งหมายในการที่โบกมือนั้น ก็เพียงแต่ว่าไม่ขอเกี่ยวข้อง จะขออยู่ในอุเบกขา จะชำระกันอย่างไร ก็สุดแต่ที่ประชุมเสนามาตย์ข้าราชการ แต่พวกที่ควบคุมไปนั้นจะเข้าใจว่าอย่างไรก็ตามที เลยพาตัวไปประหารชีวิตเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์
                                                                                                                                   
(ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน,  น. ๓๕๖.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ส่งผลให้บทบาทของรัชกาลที่ ๑ เปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อความในพระราชพงศาวดาร ด้วยการสร้างเหตุผลที่รัชกาลที่ ๑ มีความจำเป็นที่จะต้อง “โบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า” เพราะความรักใคร่คุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์ เรื่อยมาจนถึงเป็นขุนศึกคู่พระทัยดังที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการสืบทอดวาทกรรมที่สร้างความหมายให้ทั้ง ๒ พระองค์เป็นสหายต่อกัน

แต่จากตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๑ รับรู้ว่าผู้ที่ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริง ถึงแม้ว่าผู้แต่งได้นำเสนอว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงสามารถหลบหนีไปเมืองนครศรีธรรมราชได้ก็ตาม

รู้ว่าเป็นพระองค์ปลอม “จึงไม่สนใจ” ใน ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?  ผู้แต่งคือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๖  ผู้แต่งได้เพิ่มเติมตัวบทด้วยการนำเสนอพระเจ้าตากสินมหาราชที่ถูกประหารชีวิตตัดศีรษะเป็น “พระองค์ปลอม”  เพื่อให้สอดคล้อง และแสดงเหตุผลในเนื้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารคือ  หลังจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษก และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว พระองค์และกรมพระราชวังบวรฯ ได้โปรดให้ขุดศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาบังสุกุล ขณะนั้นเจ้าจอมบางส่วนแสดงอาการเสียใจ พระองค์ทั้งสองจึงให้ลงพระราชอาญา ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพและพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์ ขณะนั้นพวกเจ้าจอมข้างใน ทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินเจ้าตากคิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพิโรธดำรัสให้ลงพระราชอาญา
                                                                                                   
(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. ๒๔๓.)


เนื้อความข้างต้นเป็นอีกตอนหนึ่งที่สร้างความกังขาในเรื่องความสัมพันธ์ที่รัชกาลที่ ๑ สั่งลงพระราชอาญาพวกเจ้าจอมข้างในที่ยังอาลัยอาวรณ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีความผูกพันกัน ตัวบทวรรณกรรมเรื่องนี้จึงสร้างวาทกรรมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอมขึ้นมา เพื่อตอกย้ำมิตรภาพต่อกัน ดังนี้

แต่เมื่อเรารู้ความจริงแล้วว่า ท่านขุดศพคุณมั่น ผู้กตัญญูกตเวทีขึ้นมาเผา เผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คุณมั่นวีรบุรุษอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพื่อให้คนที่ฝักใฝ่ในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะได้เห็นจริงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว จะได้เลิกคิดเรื่องการเมืองต่อไป และอย่างน้อยก็เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นน้ำพระทัยว่า  ท่านยังระลึกถึงอยู่จึงขุดศพมาเผาให้ แต่เสียงร้องไห้นั้นคงทำให้ท่านรำคาญเพราะไม่ใช่พระศพ เป็นเพียงศพคุณมั่นต่างหาก
                                                                                                               
(ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?, น. ๑๔๗.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ผู้แต่งได้สร้างคำอธิบายถึงเหตุผลในการกระทำของพระองค์เช่นนี้  เนื่องด้วยรู้ว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงอีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๑ รับรู้ในการวางแผนผลัดแผ่นดินครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ยังสอดคล้องกับเนื้อความที่ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองพระองค์

แท้ที่จริงเป็นแผนของ“หลวงสรวิชิต”  ใน ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ผู้แต่งคือ สุภา ศิริมานนท์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๔๕  ผู้แต่งได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ไว้อย่างน่าสนใจคือ ผู้ที่วางแผนการทั้งหมดนั้นคือหลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ผู้แต่งนำเสนอว่าหลวงสรวิชิตโกรธแค้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สังหารพระเทพโยธาที่ขัดคำสั่งห้ามแวะบ้านด้วยพระองค์เองเพราะพระเทพโยธาเป็นญาติกับหลวงสรวิชิต ด้วยเหตุนี้หลวงสรวิชิตจึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนการทั้งหมด รวมถึงเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์ปลอม ดังนี้

หลวงอาสาศึกตัดสินใจเสียสละชีวิตครั้งนี้โดยไม่ต้องการที่จะให้ท่านรู้เลยด้วยซ้ำ เขาบอกพวกเราอย่างเดียวว่า  ถ้าเขาถูกตัดสินประหารในนามของท่าน เขาจะขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาสักเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าหลวงอาสาศึกคงจะไม่ได้รับโอกาสนั้นแน่นอน หลวงสรวิชิตเขารู้แก่ใจของเขาดีว่าเรื่องจริงๆ เป็นมาอย่างไร และบุรุษในนามเจ้าตากคนนั้นคือใคร ซึ่งเขาก็ย่อมไม่ปรารถนาจะให้สมเด็จเจ้าพระยาต้องรู้เรื่องที่เขาจัดการไปโดยพลการนั้นด้วย หลวงสรวิชิตรู้ดีว่าผู้ที่จะขอเข้าพบมูลนายของเขานั้นเป็นเจ้ากรุงธนตัวปลอม ความมันอาจจะแตกขึ้น เรื่องก็จะไปกันไกล อันล้วนแต่กลายเป็นข้อซึ่งพิสูจน์ถึงความไม่สามารถของเขา  ทั้งๆ ที่ความจริงเขาสามารถสังหารเสียได้ทั้งเจ้ากรุงธนตัวจริงและตัวปลอมด้วยซ้ำ อีกข้อหนึ่ง ม็อง เยเนราล ข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ  หลวงสรวิชิตรู้ว่าท่านกับมูลนายของเขาเป็นสหายศึกร่วมใจกันมานาน มีความเกี่ยวดองกันในชั้นลูกหลานหลายชั้น...ถ้าหากมีการพูดจารู้เรื่องกันขึ้น โดยอาจจะรำลึกถึงความสัมพันธ์ในอดีต...ผมจึงคิดว่าหลวงอาสาศึกคงไม่ได้รับโอกาสให้พบสมเด็จเจ้าพระยาอย่างเด็ดขาดหลวงสรวิชิตย่อมจะต้องกีดกันไว้ล่วงหน้าแล้วทุกๆ ทาง หรือมิฉะนั้นอีกแง่หนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาเขาอาจจะรู้ความจริงโดยถี่ถ้วนหมดแล้วจากหลวงสรวิชิต จึงไม่ยอมที่จะให้เจ้ากรุงธนตัวปลอมเข้าพบก็เป็นได้
                                                                                                                                   
(ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข,  น. ๙๗-๙๘.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นตกอยู่กับหลวงสรวิชิตเท่านั้น และหลวงสรวิชิตยังคงทราบถึงความคุ้นเคยในฐานะสหายและเครือญาติของทั้ง ๒ พระองค์ แต่สำหรับรัชกาลที่ ๑ ยังปรากฏการสร้างคำตอบคล้ายคลึงกับตัวบทวรรณกรรมทั้ง ๒ เรื่องในข้างต้น คือ พระองค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้เข้าพบรัชกาลที่ ๑ เป็นครั้งสุดท้ายเกิดจากการถูกกีดกันของหลวงสรวิชิต หรือคำอธิบายอีกชุดหนึ่งคือ เพราะรัชกาลที่ ๑ ทราบว่านักโทษผู้นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอม

รัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ถวายพระเกียรติยศสูงสุด  ใน ตากสิน มหาราชชาตินักรบ

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ตากสิน มหาราชชาตินักรบ ผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติคือ Claire Keefe-Fox  (แปลโดย กล้วยไม้  แก้วสนธิ) ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๔๙  ผู้แต่งยังคงอ้างอิงกับเนื้อความตามประวัติศาสตร์ แต่แก้ไขเพิ่มเติม และผสานกับจินตนาการของตน โดยเลือกเนื้อหาการชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  แต่ตัวบทวรรณกรรมได้นำเสนอว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษตามโบราณราชประเพณีสมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และที่สำคัญบุคคลที่ต้องการถวายพระเกียรติยศนั้นคือ รัชกาลที่ ๑ ดังนี้

กฎมนเทียรบาลถูกนำมาใช้ในการสำเร็จโทษพระเจ้าตากสินเช่นเดียวกับครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ

มาธิวเคยได้ยินข่าวว่าขุนนางบางคนไม่อยากถวายพระเกียรติดังนี้จะให้ประหารแบบคนทรยศ

แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงตัดสินให้ประหารชีวิตพระเจ้าตากสินเยี่ยงกษัตริย์

ทรงพิจารณาเห็นว่า การที่ราชอาณาจักรสยามยังตั้งอยู่ได้ ก็เพราะพระเจ้าตากสิน

เจ้าหน้าที่ถอดโซ่ที่ล่ามอดีตกษัตริย์ออก ให้พระองค์ทรงภูษาสีแดง ให้ทรงนั่งคุกเข่า มัดพระหัตถ์กับพระบาท จากนั้นจึงคลุมถุงกำมะหยี่สีแดง

เพชฌฆาตยกท่อนไม้จันทน์ขึ้นฟาดแรงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพระวรกายไม่ขยับ และพระโลหิตเปื้อนถุงเป็นปื้นดำ ไม่มีเสียงครวญครางใดๆ อีก
                                                                                                             
(ตากสิน มหาราชชาตินักรบ, น. ๔๓๖-๔๓๗.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น เป็นการกล่าวถึงวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ถูกชำระโทษ เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ตามที่ถูกสร้างความหมายตั้งแต่ตอนต้น  ด้วยการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุดจากรัชกาลที่ ๑ ในฐานะที่มีความผูกพันกันตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ การสร้างตัวบทวรรณกรรมที่กล่าวถึงการชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ตัวบทเรื่องนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์เฉพาะ ๒ พระองค์อย่างเด่นชัด  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของพระองค์เป็นการกระทำต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยังคงความผูกพันกันมาตั้งแต่อดีต

ดวงชะตาต้องสั่งฆ่าพระเจ้าตากฯ (พระองค์ปลอม)  ใน ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร

ตัวบทวรรณกรรมสารคดีกึ่งบันเทิงคดีเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ผู้แต่งคือ อ.เล็ก พลูโต (บุญสม ขอหิรัญ) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ตัวบทเรื่องเล่าถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลด้านโหราศาสตร์ มีเนื้อหาที่ตอกย้ำถึงการปฏิเสธการสั่งลงอาญาประหารชีวิตตัดศีรษะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของรัชกาลที่ ๑ ด้วยการนำเสนอเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” แต่ที่น่าสนใจคือ การสร้างตัวบทเรื่องเล่าด้วยการใช้ข้อมูลด้านโหราศาสตร์จากดวงพระชะตารัชกาลที่ ๑  ดังนี้

อาทิตย์ (๑) ของรัชกาลที่ ๑ เป็นดาวเจ้าเรือนมรณะอยู่ในภพสหัชชะ จึงเป็นเหตุทำให้พระองค์ต้องสั่งประหารชีวิตพระเจ้าตากสิน (องค์ปลอม) ด้วยความจำเป็น และพระเจ้าตากสิน (พระองค์จริง) ก็ต้องลี้ภัยการเมือง  ต้องสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ตายก็เหมือนตาย พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตไปพร้อมกับคุณงามความดี  แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ กลับเสด็จสวรรคตไปพร้อมคำครหาอย่างมากมาย  นั่นเป็นเพราะดวงชะตาลิขิตไว้

...

เมื่อท้องฟ้าสว่าง ความมืดมัวก็หมดไป เหลือแต่ความจริงที่กระจ่างชัดถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่  ทรงไว้ซึ่งความดีและความเสียสละไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าตากสิน  ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...
                                                                                                   
(ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร, น. ๓๙.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ถึงแม้ใจความสำคัญจะอยู่ที่การเน้นย้ำถึงพระองค์ปลอม ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  แต่ที่จริงแล้วผู้สร้างต้องการเน้นย้ำให้เห็นความทุกข์ร้อนและความเสียสละของรัชกาลที่ ๑ ด้วยการนำเสนอถึงคุณงามความดีของรัชกาลที่ ๑ ในการกระทำครั้งนี้ที่ไม่น้อยไปกว่าวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเหตุการณ์นี้  ผู้แต่งใช้ถ้อยคำว่า “แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ กลับเสด็จสวรรคตไปพร้อมคำครหาอย่างมากมาย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะทางสังคมที่เกิดข้อกังขาในเรื่องความเป็นสหายระหว่าง ๒ พระองค์  สุดท้ายผู้แต่งได้กล่าวสรุปในเชิงแก้ไขภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ ๑ อันเป็นใจความสำคัญของตัวบทเรื่องเล่าว่า “ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...” ซึ่งเป็นการแก้ไขความหมาย รวมถึงปรับประวัติศาสตร์ผ่านตัวบทวรรณกรรมอย่างชัดเจน

สรุป

การเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัชกาลที่๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากเนื้อความที่ “สร้างข้อกังขา” ในประวัติศาสตร์สู่การสร้าง “คำตอบ” ในตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี  เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่สอดรับ รวมถึงเพิ่มเติมและปฏิเสธบางเนื้อหา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ มหาราช รวมถึงสืบทอดและตอกย้ำวาทกรรม “ความเป็นมิตร” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์บางฉบับ  การนำเสนอพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑ ด้วยเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” หรือการนำเสนอคำตอบชุดต่างๆ ผ่านตัวบทวรรณกรรมเหล่านี้ จึงมีนัยที่แสดงถึงความพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรอยต่อของประวัติศาสตร์ทั้ง ๒ สมัยในยุคปัจจุบัน ดังส่วนหนึ่งที่ปรากฏในตัวบทเรื่องเล่าว่า

“ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...”

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ พร้อมเชิงอรรถและบรรณานุกรม ได้ที่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนเมษายน 2555

"ความลับ" มีความเชื่ออยู่ 2 กระแส

ที่มา www.Hellosiam โดยคุณวิภา จิรภาไพศาล เขียนในมติชน

สำหรับ "ความลับ" มีความเชื่ออยู่ 2 กระแสด้วยกัน คือ มีความลับ กับไม่มีความลับ ในฝ่ายที่เชื่อว่าไม่มีความลับนั้น มักหยิบยกคำพูดหนึ่งที่ได้ยินกันเสมอๆ มาอ้างอิงว่า "ความลับไม่มีในโลก" ด้วยคาดว่าสักวันหนึ่งความลับก็ต้องเปิดเผย เมื่อเจ้าของความลับหรือผู้มีส่วนได้เสียกับความลับนั้นหมดอิทธิพลลง ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่ามีความลับนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่า คำว่า "ความลับไม่มีในโลก" เป็นคำพูดที่ไว้ขู่พวกขวัญอ่อนเท่านั้น เพราะหลายครั้งที่บุคคลที่มีส่วนรู้เห็นความลับนั้น ก็กลายเป็นบุคคลสาบสูญไปจากสังคม

 เมื่อเป็นเช่นนี้ ความลับจึงเป็นความลับต่อไป ซึ่งหากพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าหลายๆ เหตุการณ์ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบให้สังคม ดังเช่นเหตุการณ์การสิ้นสุดของราชธานีแห่งแรกของลุ่มเจ้าพระยาอย่าง "กรุงธนบุรี" การรับรู้ทั่วไปที่ผ่านมาเกี่ยวกับการสิ้นสุดของกรุงธนบุรีและพระเจ้ากรุง ธนบุรีพอสรุปได้ดังนี้

ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมา ลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ.2324

 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา

 เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ เพื่อสืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่าสมเด็จพระ เจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2325 พระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา คำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ และยังเป็นความลับของสังคมคือ พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินนั้นทรงเสียพระสติจริงหรือไม่? เพราะนั่นเป็นประเด็นสำคัญในคำกล่าวโทษพระองค์ และนำไปสู่การสำเร็จโทษพระองค์ ใครเป็นผู้วางแผนยึดและใครเป็นผู้ยึดกรุงธนบุรี? ฯลฯ

 ทุกอย่างเป็นความลับมากว่า 200 ปี ถ้าเชื่อว่าความลับมีในโลก เพราะบุคคลผู้อยู่ในเหตุการณ์ล้วนเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าเชื่อว่าความลับไม่มีในโลกแล้ว แม้ไม่มีพยานบุคคล ก็ยังมีพยานหลักฐานข้างเคียง และด้วยกระบวนการทางกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ หลายครั้งความลับนั้นก็เปิดเผย ซึ่งนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนเมษายน ปรามินทร์ เครือทอง เลือกใช้หลักฐานการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คลี่คลายเรื่องนี้ของกรุงธนบุรี ในอีกแง่มุมที่แตกต่างออกไป

 "ต้นเรื่องของแผนยึดกรุงธนบุรีกำเนิดที่กรุงกัมพูชา เกิดเหตุรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นน) กษัตริย์กัมพูชา ซึ่งพระเจ้าตากได้ทรงตั้งไว้เมื่อสงครามคราวก่อน หัวหน้าผู้ก่อการคือเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับสมเด็จพระรามราชาสำเร็จโทษในเดือน 10 ปีกุน ศักราช 1141 (พ.ศ.2322) ต่อมาก็ถวายราชสมบัติให้นักองค์เอง ราชบุตรของนักองค์ตน ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่มาก เจ้าฟ้าทะละหะจึงเป็นผู้สำเร็จราชการว่าที่เจ้าฟ้ามหาอุปราช...

กัมพูชาขณะนั้นยังอยู่ในอำนาจของกรุงธนบุรี แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ฝ่ายกรุงธนบุรีเองก็ไม่ไว้วางใจอีกต่อไป เพราะเจ้าฟ้าทะละหะนั้นมีใจฝักใฝ่ข้างญวน เช่นเดียวกับนักองค์เอง ถ้าเติบใหญ่ขึ้นก็จะฝักใฝ่ญวนเหมือนกับนักองค์ตนพระราชบิดา ทำให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของกรุงธนบุรีได้ นี่คือสาเหตุที่กรุงธนบุรีต้องยกทัพใหญ่ไปปราบกัมพูชา และเป็นตัวแปรสำคัญต่อการยึดกรุงธนบุรีและทำรัฐประหารพระเจ้าตากในเวลาต่อ มา..."

หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าทรงเสียพระสติ ก็มีข้อมูลนำเสนอน่าสนใจ ทั้งในเรื่องดังกล่าว และการข่าวภายในราชสำนักกรุงธนบุรีของเจ้าพระยาจักรีว่า "ความทรงจำในเรื่องนี้ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่คลาดเคลื่อนแน่

การที่เจ้าพระยาจักรีรู้ข่าว "วิปริต" ในกรุงธนบุรี ตั้งแต่เดือน 11 หรือเดือน 12 ปีชวด ซึ่งจะหมายถึงเจ้าพระยาจักรีรับข่าวนี้ตั้งแต่อยู่นครราชสีมา "ก่อน" ที่จะเดินทัพไปกัมพูชา 2-3 เดือน... อันที่จริงข่าว "วิปริต" นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นระยะบ้างแล้ว จดหมายเหตุโหรกล่าวถึงพระเจ้าตากทรงขัดแย้งกับคณะสงฆ์...มีเหตุเรื่อง พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบันได้หรือไม่

ข้อหลังนี้เป็นข้อหาหนักถึงขั้นกล่าวว่าพระเจ้าตากทรงมี "พระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส" ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งกับคณะสงฆ์เท่านั้น ข้างฝ่ายราษฎรก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องพระเจ้าแผ่นดินทรงพิพากษากลับเอาจริงเป็นเท็จ ทั้งเรื่องเร่งรัดเอาทรัพย์เป็นของหลวง ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรีจะเกิดขึ้นเพราะใครหรือเพราะอะไร นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีจะเดินทัพสู่กัมพูชาทั้งสิ้น

 จึงประมาณการได้ว่า พระยาสุริยอภัย (หลานพระยาจักรี) ได้ตระเตรียมไพร่พลไทย-ลาว อาจจะตั้งแต่ปลายปีชวด ไม่เกินต้นปีฉลู เตรียม "ยกรบ" ควบคุมความไม่สงบในกรุงธนบุรีอยู่แล้ว ตามคำสั่งเจ้าพระยาจักรี และที่สำคัญที่สุดคือ มีการเตรียมทัพยึดกรุงธนบุรีก่อนที่ "กบฏพระยาสรรค์" ความไม่สงบตัวจริงจะเกิดขึ้นเสียอีก!...

" พระราชดำรัสสุดท้าย (ของพระเจ้ากรุงธนบุรี) ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีไว้ให้ชวนคิดดังนี้ "กูวิตกแต่ศัตรูมาแต่ประเทศเมืองไกล แต่เดี๋ยวนี้ไซ้ลูกหลานของกูเอง ว่ากูคิดผิดเปนบ้าเปนบอแล้วดังนี้ จะให้พ่อบวชก็ดี ฤาจะใส่ตรวนพ่อก็ดี พ่อจะยอมรับทำตามใจลูกบังคับทั้งสิ้น" พระราชดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า ทรงรู้อยู่ตลอดเวลาที่ถูกหาว่า "บ้า"

สุดท้ายพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสียกรุงให้กับขุนนางในแผ่นดินของพระองค์เองถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยการเสียกรุงครั้งที่ 1 ให้แก่กำลังพลของพระยาสรรค์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2324 และเสียต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้แก่ทัพของเจ้าพระยาจักรีในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2325 (นับอย่างปฏิทินเก่าเดือนเมษายนนับเป็นขึ้นปีพุทธศักราชใหม่) อันเป็นการปิดฉากของกรุงธนบุรี และพระเจ้ากรุงธนบุรีลงอย่างถาวร ภายในระยะเวลาเพียง 23 วัน ที่เจ้าพระยาจักรีมีชัยเหนือพระยาสรรค์ที่เข้ายึดกรุงธนบุรีก่อนหน้า คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเป็นการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี

 เจ้าพระยาจักรีสานสัมพันธไมตรีกับทัพญวนอย่างไร ไม่ให้มีการตีตลบหลังในระหว่างเข้ายึดกรุงธนบุรี ท่านปิดกั้นทัพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ให้เป็นกำลังหนุนของกรุงธนบุรีอย่างไร การข่าวที่สายส่งรายงานเหตุการณ์ในพระนครไปยังทัพของท่านที่เสียมราฐ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นความลับที่ปิดตายไปพร้อมกับชีวิตบุคคลปิดลงอีกต่อไป เมื่อข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเปิดเผย ความลับย่อมไม่เป็นความลับอีกต่อ หากความลับอื่นๆ ขอเชิญท่านตรวจสอบในศิลปวัฒนธรรมเถิด แล้วท่านจะทราบเองว่า ความลับไม่มีในโลก หรือเป็นแค่คำขู่พวกขวัญอ่อน!!


รวมบันทึกเหตุการณ์

บันทึกเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาพ.ศ.2310
โดย:บาทหลวงฝรั่งเศสผู้เผยแพร่ศาสนาคาทอลิกในกรุงศรีอยุธยา
(เขียนเพื่อรายงานไปยังประเทศฝรั่งเศส)
"เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้นพม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือน ทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ 15 วันและได้ฆ่าฟันผู้คนไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็ฆ่าฟันเสียสิ้นแต่พวกพม่าพยายามฆ่าพวกพระสงฆ์มากกว่าแลได้ฆ่าเสีย นับจำนวนไม่ถ้วนข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวเท่านั้นกว่า20 องค์"

"เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนในพระนครตลอดจนพระราชวัง และวัดวาอารามหมดสิ้นแล้วพวกพม่าจึงเตรียมการที่จะยกกลับไป พวกพม่าได้ยกทัพออกจากกรุงเมื่อวันที่ 15 เดือนเมษายน ค.ศ.1767 (พ.ศ.2310)"

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง แต่งโดยนาย
"ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง" ชาวฝรั่งเศส โดยรวบรวมเรื่องราวจากบันทึกของสังฆราช บาทหลวงชาว ฝรั่งเศส
"วันที่ 28เม.ย.1767(กรุงแตก7เมย.)บ้านเมืองถูกยึดโดยการโจมตีทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดต่างๆไมเหลืออะไรเลยนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านพระพุทธรูปถูกนำมาหลอมและทำลายโดยผู้ชนะที่ป่าเถื่อนผู้มีแต่ความโลภเท่านั้นเพื่อเป็นการแก้แค้นในความเสียหายครั้งนี้ พวกพม่าได้ถ่ายเทความโกรธแก่เมืองเล็กๆโดยรอบสยาม"
"พวกพม่าได้ใช้ไฟลนฝ่าเท้าของพวกสยาม เพื่อจะให้พวกสยามเปิดเผยที่ซ่อนทรัพย์สิน และทำการข่มขืนลูกสาวที่กำลังร่ำไห้ต่อหน้าต่อตาพวกเขา" "พระสงฆ์ซึ่งถูกสงสัยว่าปิดบังทรัพย์สินจำนวนมากถูกธนูยิงจนพรุนและถูกหอก คนอื่นๆจำนวนมากก็ถูกตีจนตาย ด้วยกระบองหนัก" "สภาพบ้านเมืองก็เช่นเดียวกับวัดวาอารามซึ่งเต็มไปด้วยซากศพแม่น้ำต่างๆไหลไม่สะดวกเนื่องจากพวกซากศพกีดกั้นทางน้ำกลิ่นเหม็นจากสิ่งเหล่านี้ ชักจูงพวกแมลงวันมาตอมอันเป็นเหตุให้ยุ่งยากในการล่าถอยของกองทัพพวกเสนาบดีและพวกคนสนิทถูกจับใส่โซ่ตรวนและถูกกล่าวหากลายเป็นทาสอยู่ในเรือโบราณพระเจ้าแผ่นดินผู้รู้เห็นในชะตากรรม ของข้าราชสำนักพระองค์ได้พยายามที่จะหลบหนีแต่พระองค์ทรงถูกจำได้ และถูกปลงพระชนม์ที่ประตูพระราชวัง" "ขุนหลวงหาวัด(พระราชอนุชาพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งกำลังผนวชอยู่)ถูกพรากจากความสงบซึ่งพระองค์ปรารถนาเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องยุ่งยากและถูกนำไปรวมกับพระราชวงศ์ทั้งหมดพวกที่ถูกจับกุมทั้งหมดกลัวถูกทรมานได้สารภาพว่าพวกเขามีทรัพย์สมบัติที่แอบซ่อนอยู่มากมายเมื่อความโลภของพวกพม่าเป็นที่จุใจแล้ว และบ้านเมืองเต็มไปด้วยซากศพ และคนที่กำลังจะตาย กองทัพที่มีชัยก็ถอนกลับไปพะโค"

หนังสือ"อภินิหารบรรพบุรุษ"สมุดไทย กระดาษข่อยขาว
ของ ม.จ.ปิยภักดีนาถ สุประดิษฐ์
"ในแผ่นดิน(รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)เจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายกตั้งบ้านเรือนอยู่ใก้ลกำแพงพระมหานครกรุงศรีอยุธยา ในกาลครั้งโน้นนั้น จีนมีชื่อไหยฮอง เป็นขุนพัฒน์นายอาการบ่อนเบี้ยแลกอบด้วยภรรยาทาสชายหญิงแลทรัพย์สมบัติโดยสมบูรณ์ จึงเข้าไปพึ่งบารมีอาศัยที่อยู่หน้าบ้านท่านเจ้าพระยาจักรีมาช้านาน จนภรรยาตั้งครรภ์กำหนดได้ 10 เดือน ก็คลอดบุตรชายคนที่
1 ในจุลศักราช 1096ปีขาลฉอศกกุมารบุตรจีนไหยฮอง ขุนพัฒน์นั้นมีศิริรูปพรรณสันฐานงามยิ่งนักโดยลักษณะกุมารนั้นเป็นจตุรัสกายคืออธิบายว่าวัดตั้งแต่เท้าถึงศูนย์สะดือเป็นมัชฌิมะกายได้ส่วนหนึ่งแลวัดตั้งแต่ศูนย์สะดือถึงผมตกแห่งหน้าผากเป็นส่วนหนึ่ง แลวัดตั้งแต่ศูนย์อุระราวถันออกไปถึงปลายนิ้วมือข้างซ้ายเป็นส่วนหนึ่ง ข้างขวาเป็นส่วนหนึ่งทั้งสี่ส่วนนั้นยาวเสมอกันไม่ก้ำเกินที่สะดือนั้นเป็นหลุมลึกลงไป พอจุผลหมากลงทั้งเปลือกผิดกับสามัญชนทั้งหลายจึงว่าเป็นลักษณะจตุรัสกาย คือรูปศิริกายเป็นส่วนสี่เหลี่ยม ดุจดังพระพุทธลักษณะแห่งองค์สมเด็จพระสมณโคดม"

ราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับหลวงเรืองเดชอนันต์
(ทองดี ธนะรัชต์-บิดาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)แปล
"ลุศักราช 1131(พ.ศ.2312)ปีฉลู พระเจ้าตาก(สิน)เป็นบุตรจีนไหหง อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้รวบรวมกำลังออกรบกับพม่ามีชัยชนะขับไล่พม่าออกไปจากเมืองไทยแล้วตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าาในกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ให้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลสมเด็จบรมบพิตรพระนารายณ์ราชาธิบดีณ กรุงกัมพูชาให้มีราชสาส์น(พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการดอกไม้เงินทอง)ไปถวายแด่พระเจ้าตาก เพื่อเป็นทางพระราชไมตรีดุจกาลก่อน สมเด็จพระบรมบพิตรทรงพระดำริเห็นว่า พระเจ้าตากนี้ เป็นเสมอแต่ เพียงบุตรจีนไหหง ตระกูลราษฎรสามัญแลมาตั้งต ัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์จะให้เรานำเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงินทองไป ถวายยอมเป็นเมืองขึ้นเช่นนี้ดูกระ
ไรอยู่ เห็นจะไม่เป็นการสมควรพระองค์จึงไม่ทรงยอมรับเป็นเมืองประเทศราชแก่ พระเจ้าตาก"

พงศาวดารญวณหรือหนังสือ"เวียดนามสือกี้"
ฉบับนายหยอง ญวน
ทหารปืนใหญ่แปล พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2443
"ประการหนึ่งอันพระเจ้ากรุงธนบุรี คือเจ้าตากสิน ชาติตระกูลบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตแขวงกรุงเก่า แซ่ติ้นชื่อก๊กฮวย ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาโบราณเสียแก่พม่าข้าศึก พระยาตากจึงตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งกรุง ณ ประเทศตำบลบางกอกใหญ่ เรียกกรุงธนบุรี"

พระราชพงศาวดารจีนราชวงศ์เช็ง
แผ่นดินพระเจ้าเขียนหลง
บันทึกประวัติโดยอาลักษณ์จีน
"บิดาเจิ้งเจาเป็นชาวมณฑลกวางตุ้งไปทำมาค้าขายอยู่ที่่เสียมล่อก๊กและเกิดเจิ้งเจาที่นั่นเมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่เป็นผู้มี
ความสามารถได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ"

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี
ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
ฉบับหมายเลข 2/ไฆ

"จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์แลพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญเดิมชื่อจีนแจ้งซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียนมีความชอบในแผ่น
ดินได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก"

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65
"พุทธทำนายในคัมภีร์ธาตุวงศ์ ใจความว่าตระกูลเสนาบดีได้เป็นกษัตริย์ 4 พระองค์ๆสุดนั้นพม่าจะยกมาย่ำยีกรุงเทพฯเสียแก่พม่าแล้ว ยังมีชายพ่อค้าเกวียนนั้นจะได้เป็นพระยาครองเมืองทิศใต้ กรุงชายชเลชื่อเมืองบางกอก…"

จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39
"…ในเวลานั้นพระยาตาก ซึ่งเป็นชาติจีนครึ่ง 1 นั้น กำลังดำริจะเอาราชสมบัติ…"


ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
ฉบับตุรแปง พิมพ์ที่ปารีส เมื่อ
พ.ศ.2314 ต้นสมัยกรุงธนบุรี
"ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีนท่านเป็นทั้งนักการเมือง และนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่าน ด้วยการเรียกร้องความสงสารและความเห็นใจ ท่านได้รับเลือกเป็นหัวหน้าโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งหมด ครั้งแรกท่านได้ใช้นามแฝงว่า "ผู้กู้ชาติ"และแอบแฝงความสูงศักดิ์ โดยการใช้เครื่องนุ่งห่มตามปรกติ ท่านปรารถนาที่จะทำตัวเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงต่อไป"

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับสมุดไทยดำเส้นดินสอขาว
(ฉบับนี้พิศดารกว่าฉบับอื่น
เพราะเขียนให้ร้ายพระยาตากสิน)

"ขณะนั้นยังมีบุตรจีนคลองสวนพลูคนหนึ่ง ขึ้นไปค้าขายอยู่ ณ เมืองตากหลายปีครั้นอยู่มาจีนผู้นั้น เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดช่วยกรมการชำระถ้อยความของราษฎรอยู่เนืองๆ เจ้าเมืองตากนั้นป่วยลงก็ถึงแก่ความตายจีนมีชื่อผู้นั้นก็ตัดผมเป็นไทย ลงมา ณ กรุงศรีอยุธยา จะเดินเป็นเจ้าเมืองตาก จึงเข้ามาหานายสด เป็นคนรักกันกับชายมีชื่อผู้นั้น นายสดก็พาชายมีชื่อผู้นั้นไปหาหลวงนายชาญภูเบศ นายเวรมหาดเล็กของขุนหลวงหาวัดหลวงนายชาญภูเบศก็ไปหาพระยาจักรีว่า ชายมีชื่อจะเดินเป็นตัวเมืองตาก จะกราบเท้าเจ้าคุณให้ช่วยด้วยพอมีหนังสือมาวางเวรว่า เจ้าเมืองตากนั้นถึงแก่อนิจกรรมเสียแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า เมืองตากเล่าก็เป็นเมืองหน้าศึกอยู่ ให้พระยาจักรีหาคนที่มีสติปัญญาพอจะเป็นได้""พระยาจักรีเห็นได้ท่วงทีแล้วก็กราบบังคมทูลว่า เห็นจะจัดแจงได้พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้น พระยาจักรีก็กลับออกมาบอกนายชาญภูเบศว่าได้ จึงให้หาชายมีชื่อผู้นั้นเข้ามาบอกว่า พระเจ้าอยู่หัวโปรดแล้วพระยาจักรีจะให้มีท้องตราขึ้นไป พระยาจักรีก็นำเอาชายมีชื่อผู้นั้นเข้าเฝ้าถวายบังคม ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นพระยาตาก จึงพระราชทานเครื่องยศสำหรับเมืองเก่านั้นขึ้นไป"

"พระยาตากกับภรรยาและบ่าวของตัวขึ้นไปถึงเมืองตากวางตรา กรมการทั้งปวงพร้อมกันก็จัดแจงเรือและคนสำหรับเมืองคานหามแห่นั้นทั้งสิ้น พระยาตากครองเมืองตากสืบไป ไพร่บ้านพลเมืองชื่นชมยินดีนักจะว่ากล่าวอันใดคนกลัวเกรงมาก ก็จัดแจงตั้งบ่อนถั่วบ่อนไก่ ให้กรมการมาเล่น ทั้งชาวบ้านชาวเรือ คิดฉ้อตระบัดถ้อยความของราษฎรว่าเสียผู้เดียว ข่มเหงกรมการทั้งปวง ชาวบ้านชาวเรือที่มีทรัพย์เอาเป็นของตนสิ้น กรมการทนทานมิได้ จึงร่วมคิดกันหลายคนว่าเราทั้งปวงเรี่ยไรเงินกันเข้า จ้างคนดีมีวิชาให้ฆ่าเจ้าเมืองเสีย จึงชวนกันเที่ยวหาจ้างคนอ้ายรั่งทาสหลวงยกกระบัตรก็รับเอา อยู่ได้สามวันสี่วันเห็นสนิทเพลาค่ำ ถือดาบย่องเข้าไปที่พระยาตากนอนนั้นครั้นเห็นหลับสนิทแล้วถือดาบเข้ามาเงื้อดาบขึ้นจะฟัน ก็บังเกิดไฟลุกขึ้นทั้งตัว เป็นประจักษ์แก่ตา อ้ายรั่งตกใจล้มลง พระยาตากตื่นขึ้นเห็นคนถือดาบก็จับเอาตัวได้ จึงว่าอ้ายนี่จะฆ่ากูด้วยอันใด อ้ายรั่งจึงว่าเขาจ้างให้มา ข้าพเจ้ายากจนก็รับจะฆ่าเจ้าคุณเสีย เจ้าคุณบุญมากจะเป็นกษัตริย์ พอข้าพเจ้าเงื้อดาบจะฟัน เป็นไฟลุกขึ้นทั้งตัวเจ้าคุณจะได้เป็นกษัตริย์เป็นมั่นคง ขอชีวิตข้าพเจ้าเถิด พระยาตากได้ยินอ้ายรั่งทำนาย ว่าตัวจะได้เป็นเจ้าแผ่นดิน มีใจกรุณาปล่อยอ้ายรั่งนั้นเสียพระยาตากมีใจกำเริบขึ้นกระทำสิ่งอันชั่วต่อไปไม่กลัวเกรงพระราชอาญาหามิได้"

"กรมการพร้อมกันแต่งหนังสือเข้าชื่อกันบอกลงมาถึงสมุหนายกกล่าวโทษพระยาตากว่ากระทำหยาบช้าเป็นหลายข้อสมุหนายกก็นำ เอาข้อความขึ้นกราบถวายบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบเหตุดังนั้น จึงให้ขุนรามมรณภพขึ้นไปจับพระยาตากฆ่าเสีย เป็นคนหาอยู่ในหิริโอตัปปะมิได้ โฉดเขลาเมาในสันดาน พาลประทุษจริตให้ขึ้นไปฆ่าเสียครั้นฆ่าเสียแล้วให้ครองเมืองเถิด ขึ้นนางมีชื่อผู้นั้นก็ขึ้นไป พระยาตากรู้ให้ลงมารับข้าหลวงขึ้นไปเลี้ยงดูมิให้รู้หนักเบาจับข้าหลวงฆ่าเสียกรมการทั้งปวงเข้าชื่อกันบอกลงมา พอพม่าติดกรุงพระนครศรีอยุธยาก็จนใจอยู่"

"ครั้นพม่าล้อมกรุง พระยาตากจัดทหารห้าร้อยคนลงมาอาสาตีทัพพม่าถวาย ครั้นลงมาถึงกรุงเข้าเฝ้ารับอาสาตีพม่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเสื้อทรงอย่างน้อยที่ดีให้พระยาตากตัวหนึ่ง กับข้าวสารแจกให้ทุกทหารคนละถังแล้วออกตีพม่า"

จดหมายเหตุความทรงจำ
ของกรมหลวงนรินทรเทวี
"พม่าล้อมไว้3ปีแผ่นดินต้น(พระเจ้ากรุงธนบุรี)หนีออกจากเมืองกับผู้
คนพรรคพวก 500 มีปืนถือติดมือ แต่ท่านหนีข้ามฟากไปตะวันออก"

source - http://nu20003.9.forumer.com/a/_post905.html